แชร์

Food Waste คืออะไร

ทุกวันนี้ทั่วโลกมีอาหารเหลือทิ้งมากกว่า 1 พันล้านตัน หรือ 10 ล้านล้านกิโลกรัมต่อปี โดยอาหารเหล่านี้กลายมาเป็น ก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางอากาศ ทำลายชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ยังมีผู้คนอีกหลายล้านคนอดอยาก แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง? วันนี้ริมปิงจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักปัญหา Food Waste (ขยะอาหาร) กันค่ะ เนื่องในวันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day)

Food Waste คืออะไร และปัญหาเริ่มต้นเมื่อไหร่?

Food Waste (ขยะอาหาร) คืออาหารที่ถูกทิ้งด้วยหลายๆ เหตุผลทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น เศษอาหารที่รับประทานไม่หมด เศษผักผลไม้ตกแต่งจาน รวมไปถึงอาหารเน่าเสีย และหมดอายุจากการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมของร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านสะดวกซื้อต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกทิ้งรวมกันลงถังขยะและนำไปฝังกลบในดิน ดังนั้นอาหารเหล่านี้จึงกลายเป็นขยะอาหารที่ทำลายโลก

ปัญหา Food Waste หรือขยะอาหารนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากการจัดการทรัพยากรอาหารอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ใน กรุงโรมโบราณ มักจะจัดงานเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่ และมีอาหารจำนวนมากถูกโยนทิ้งไป เนื่องจากทานไม่หมด ขณะเดียวกันในช่วง ยุคกลาง อาหารเหลือทิ้งมักเป็นเรื่องปกติในหมู่คนชั้นสูง เนื่องจากพวกเขามองว่าอาหารส่วนเกินเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ซึ่งนี่บ่งบอกได้ว่าในขณะนั้นพวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อมที่จะตามมาเลย

ขยะอาหาร: ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่คาดไม่ถึง

ในช่วง ศตวรรษที่ 20 ปริมาณขยะอาหารเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากความไม่ตระหนักรู้ของผู้บริโภค ซึ่งอาหารที่เหลือทิ้งเหล่านั้นมักจะถูกนำมาจัดการด้วยการฝังกลบในดิน แต่ถึงแม้ว่าการนำมาฝังกลบในดินจะเป็นวิธีการจัดการที่ถูกต้อง แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อนำขยะอาหารจำนวนมากมาทับถมกันแล้วกลบในดิน ขยะอาหารเหล่านี้จะใช้เวลานานกว่าปกติในการย่อยสลาย เนื่องจากในดินไม่มีออกซิเจน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการย่อยสลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้การย่อยสลายของขยะอาหารยังปล่อย ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ออกมาอีกด้วย ซึ่งก๊าซเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด ภาวะเรือนกระจกถึง 8% เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า

สาเหตุหลักและการทำความเข้าใจวันหมดอายุ

สาเหตุหลักของการเกิดขยะอาหารทั่วโลก คือการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพของร้านค้าต่างๆ และพฤติกรรมฟุ่มเฟือยของผู้บริโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผนจัดเตรียมอาหารและสินค้าที่ไม่เหมาะสม การทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้และการขาดความเข้าใจหรือสับสนต่อวันหมดอายุบนฉลากสินค้า เช่น

สัญลักษณ์ ควรบริโภคก่อน (Best By/Before, BB) ที่หมายถึงอาหารนั้นยังคงมีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีเหมือนเดิมจนถึงวันที่ระบุไว้ หากล่วงเลยจากวันดังกล่าว คุณภาพ รสชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งยังสามารถบริโภคได้ แต่ก่อนบริโภคควรพิจารณาลักษณะของ กลิ่น สี และรสชาติ
วันหมดอายุ (Expiry Date, EXP) หมายถึงอาหารที่ห้ามบริโภคเด็ดขาด เมื่อเลยวันที่ระบุไว้
ความสับสนที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากทิ้งอาหารทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวันหมดอายุ เพราะความเข้าใจผิด

ทางออกของปัญหา: บทบาทขององค์กรและตัวเรา

อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้กระตุ้นให้เกิดความพยายามในการแก้ปัญหาขยะอาหารในระดับโลก องค์กร รัฐบาล และบุคคลต่างๆ เริ่มหากลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ เพื่อลดของเสียในทุกขั้นตอนของระบบอาหาร เช่น

การนำวัตถุดิบส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพดีไปบริจาค ผ่านหน่วยงานเพื่อการกุศล สำหรับมอบให้คนที่ขาดแคลน
นำวัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐานแต่ยังสามารถรับประทานได้ เช่น เนื้อสัตว์มาปรุงเป็นอาหารสำเร็จรูปแทนการนำไปทิ้ง
นอกจากภาคธุรกิจแล้ว เรายังสามารถแก้ปัญหา Food Waste ได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองอีกด้วย เช่น สังเกตวันหมดอายุ เก็บอาหารให้ถูกวิธี จัดระเบียบตู้เย็น และทำอาหารแต่พอทาน เป็นต้นค่ะ

Tags :

บทความที่เกี่ยวข้อง
ภัยพิบัติกากน้ำตาลครั้งใหญ่
จากกากน้ำตาลอาหารหวานที่สร้างความสุข สู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1919
กระดาษรองอบ
ไขข้อสงสัย: กระดาษรองอบ ทำมาจากอะไร?
ความแตกต่างระหว่างเตาแก๊สและเตาถ่าน
เปรียบเทียบชัดๆ: ความแตกต่างระหว่างเตาแก๊สและเตาถ่านในการทำอาหาร
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ