Nectarine (เนคทารีน)
Nectarine (เนคทารีน) เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มี Species เดียวกับ Peach และมีลักษณะคล้ายกันเป็นอย่างมาก ทั้งเปลือกที่มีสีส้มอมแดง ผลที่มีรูปทรงคล้ายหัวใจ เนื้อด้านในสีขาวหรือเหลือง แต่ส่วนที่ทำให้สามารถรู้ได้ถึงความแตกต่างของผลไม้ทั้งสองชนิดในทันทีนั่นคือ ในขณะที่ Peach จะมีขนอ่อนปกคลุมทั่วทั้งเปลือกจนมีผิวสัมผัสคล้ายกำมะหยี่ แต่ Nectarine จะไม่มีขน ทำให้มีผิวที่เรียบและเป็นเงา ซึ่งขนอ่อนของ Peach ปกติแล้วจะทำหน้าที่ปกป้องตัวผล ซึ่ง Nectarine ในธรรมชาติจะมีแนวโน้มที่จะถูกทำลายโดยแมลงหรือเกิดรอยช้ำได้ง่ายกว่านั่นเอง รวมไปถึงทำให้เปลือกมีสีแดงมากกว่าในบางครั้ง
นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในด้านอื่นๆ ได้แก่ ในด้านขนาด Nectarine จะมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย และในส่วนของเนื้อผลไม้ Peach จะมีรสหวานและเนื้อนิ่มมากเมื่อสุก ส่วนเนื้อของ Nectarine จะกรอบแน่นกว่า มีรสชาติที่ชัดเจนกว่าและมีความเปรี้ยวมากกว่า และในทางการค้าปัจจุบันก็จัดว่าทั้งสองเป็นผลไม้คนละสายพันธุ์ แม้ว่า Nectarine จะไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากเท่า Peach แต่ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การกลายพันธุ์เล็กน้อยที่สร้างความต่าง
แม้ว่า Peach จะมีการถูกบันทึกถึงการบริโภคในประวัติศาสตร์จีนมามากกว่า 8,000 ปี แต่ Nectarine ไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังจากการมีอยู่ของ Peach จากหลักฐานทางพันธุกรรมของผลไม้ทั้ง 2 ชนิด แม้ว่าจะเป็น Species เดียวกัน มีรูปร่างของผลและลำต้นที่เหมือนกัน แต่บนโครโมโซมของ Nectarine นั้นมี gene ที่ต่างออกไปเพียง 1 ตำแหน่ง ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์จาก Peach ซึ่งส่งผลให้ Nectarine กลายเป็นผลไม้ที่ไม่มีขนอ่อนปกคลุมนั่นเอง
มีข้อสันนิษฐานว่า Nectarine ถูกเผยแพร่ผ่านการค้าขายไปยัง Persia ก่อนจะส่งต่อไปยังทวีปยุโรปในช่วงเวลาเดียวกับ Peach โดยคาดว่า Nectarine นั้นถูกเผยแพร่ไปยังประเทศกรีซเป็นแห่งแรกในยุโรป เนื่องจากชื่อของ Nectarine มาจากคำว่า Nectar ในภาษากรีก ซึ่งหมายถึง เครื่องดื่มของเทพเจ้า และมีสถานะเป็นผลไม้ที่เป็นสมบัติล้ำค่า
การเดินทางของ Nectarine สู่ทั่วโลก
นักสำรวจชาวสเปนได้เผยแพร่ Peach และ Nectarine ไปยังอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 16 (1501-1600) และประเทศอังกฤษกับฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 17 (1601-1700) โดยในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ จากหลักฐานที่ค้นพบโดย Oxford English Dictionary มีการใช้คำว่า Nectarine เป็นอังกฤษครั้งแรกในปีค.ศ. 1616 ในหนังสือ Cheap and Good Husbandry ของ Gervase Markham นักเขียนและนักแปลชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ในชนบท
หลักฐานการเพาะปลูกและบริโภค Nectarine ได้ปรากฏในหนังสือพิมพ์อเมริกาหลากหลายฉบับในยุคล่าอาณานิคม (ปีค.ศ. 1607-1775) ตัวอย่างเช่น ในหนังสือพิมพ์ the New York Gazette (ปีค.ศ. 1768) ได้กล่าวว่ามีการทำไร่ Nectarine ในชุมชน Jamaica ใน New York หลังจากเวลาผ่านไปกว่าร้อยปี ได้มีนักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า David Fairchild ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเกษตรในอเมริกา เขาได้นำเข้าพืชชนิดใหม่ที่ีมีประโยชน์มากกว่า 200,000 ชนิด และพัฒนาพืชที่มีการเพาะปลูกอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย Nectarine เป็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1903 และเป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Fairchild ร่วมกับ ผักเคล, มะม่วง, อโวคาโด, อินทผลัม, ถั่วเหลืองและพิสตาชิโอ
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1950-1959 ในรัฐ California ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูก Peach และ Nectarine มากถึง 95% ของทั้งสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ของ Nectarine ด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์กับพีช จนได้ผลผลิตที่มีเปลือกที่แข็งแรง จนกลายเป็นผลไม้ที่สามารถทำการขนส่งได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Nectarine ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีการส่งออกไปทั่วโลกในที่สุด
การเพาะปลูกและการนำไปใช้ประโยชน์
แม้ว่าจะมีการเพาะปลูกต้น Nectarine โดยเฉพาะ แต่ในบางครั้งต้น Peach โดยธรรมชาติก็สามารถออกผลเป็น Nectarine ได้ ซึ่งเมื่อพบ เกษตรกรก็จะใช้วิธีการตอนกิ่ง และป้องกันอย่างดีเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยว รวมถึงเป็นขยายพันธุ์ให้มี Nectarine มากขึ้น ปัจจุบันการปลูก Nectarine มักทำควบคู่ไปกับการปลูก Peach เนื่องจากใช้สภาพแวดล้อมและการดูแลรักษาที่เหมือนกันทุกประการ โดยประเทศต้นกำเนิดอย่างจีนก็เป็นแหล่งเพาะปลูก Peach และ Nectarine ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีการเพาะปลูกในแทบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
ในการเลือกบริโภคระหว่าง Peach และ Nectarine จะคำนึงจากความนิ่มของเนื้อผลไม้และรสชาติเป็นหลัก Peach ที่มีเนื้อนิ่มและรสหวานมักถูกใช้ทำเป็นไส้หรือของขนมอบ และนำไปทำเป็นซอสที่มีรสหวาน ในส่วนของ Nectarine นิยมนำไปอบหรือย่างทั้งเปลือก เนื่องจากมีเนื้อที่แน่น และไม่มีขนอ่อนที่อาจส่งผลต่อการโดนความร้อน และยังนิยมแช่แข็งเนื้อ nectarine สด เพื่อใช้รับประทานดับร้อน นอกจากนี้ ด้วยรสชาติมีความเปรี้ยว จึงนิยมใส่ลงในสลัดหรือนำไปทำเป็นแยม