แชร์

เสียงดนตรีกับรสชาติอาหาร

มีใครเคยสงสัยไหมว่าอิทธิพลของเสียงดนตรีส่งผลต่อการรับรู้รสชาติของเราอย่างไร? หลายครั้งที่เราไปรับประทานอาหาร ร้านอาหารหลายแห่งมักจะเปิดเพลงที่แตกต่างกันออกไปตามรสนิยมและเอกลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งนี้หลายคนอาจไม่เคยสังเกตว่าเสียงเพลงที่เหมาะสมกับบรรยากาศทำให้อาหารที่เราทานอร่อยมากยิ่งขึ้น กลับกัน หากเพลงที่เปิดไม่เหมาะสมกับบรรยากาศ อาหารที่เราทานก็อาจจะมีรสชาติไม่ถูกปากตามไปด้วย

ดนตรี: ตัวแปรสำคัญในประสบการณ์การรับประทาน

อิทธิพลของเสียงดนตรีต่อการรับรู้รสชาติของอาหารเป็นงานวิจัยที่ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี ซึ่งในงานวิจัยต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะค้นพบว่าเสียงดนตรีส่งผลต่อรสชาติแล้ว ยังพบว่าเสียงดนตรีส่งผลต่อจังหวะในการรับประทาน รวมถึงการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มด้วย

เพลงที่ใช่จะสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม หมายความว่าเพลงมีอิทธิพลอย่างมากต่อประสบการณ์การทานและการเลือกอาหารของเรา ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของดนตรีที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อไวน์ของ Adrian C., David J. Hargreaves และ Jennifer McKendrick พบว่าการเปิดเพลงฝรั่งเศสในซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษทำให้ไวน์ฝรั่งเศสมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ งานวิจัยของ Areni, C.S. และ Kim ยังพบว่าการเปิดดนตรีคลาสสิกในร้านขายไวน์มักจะเชื่อมโยงกับคุณภาพและความซับซ้อน ทำให้ลูกค้าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นด้วย

อีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจของ Zellner, Debra et al. ซึ่งศึกษาในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พบว่าการเปิดเพลงสเปนทำให้นักเรียนเลือกรับประทานปาเอญ่า (Paella) มากกว่าเมนูอาหารอิตาลี แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของดนตรีต่อการตัดสินใจเลือกอาหารอย่างชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยเกี่ยวกับเสียงดนตรีและรสชาติของ Klemens Knöferle & Charles Spence ที่ตีพิมพ์ในปี 2012 พบว่าเสียงที่แหลมสูงจะสัมพันธ์กับการรับรู้รสชาติหวานและเปรี้ยว ในขณะที่เสียงที่ต่ำจะสัมพันธ์กับรสชาติที่ขมและเผ็ด ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการแต่งเพลงที่ถูกออกแบบมาเพื่อเสริมรสชาติของอาหารโดยเฉพาะ (Sonic Seasoning)

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Ronald E. Milliman ที่ตีพิมพ์ใน Chicago Journals ยังได้ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าที่นั่งในร้านอาหารเป็นเวลากว่า 8 สัปดาห์ พบว่าถ้าเปิดดนตรีในจังหวะที่ช้า ลูกค้าจะนั่งในร้านโดยเฉลี่ย 29 นาที แต่ถ้าหากเปิดดนตรีในจังหวะที่เร็วขึ้น ลูกค้าจะนั่งในร้านโดยเฉลี่ย 27 นาที ซึ่งการค้นพบนี้บ่งชี้ว่าการเปิดดนตรีที่ช้าจะทำให้ลูกค้าใช้เวลาทานอาหารนานขึ้น กลับกัน หากเปิดดนตรีเร็ว ลูกค้าก็จะทานอาหารได้เร็วขึ้น

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและรสชาติอาหาร

อิทธิพลของดนตรีต่อการรับรู้รสชาติอาหารนั้นมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

  • สภาวะทางอารมณ์: ดนตรีสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้โดยตรง ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้รสชาติอาหาร ตัวอย่างเช่น หากเรากำลังฟังเพลงที่สนุกสนาน เราอาจรู้สึกว่าอาหารนั้นน่ารับประทานมากขึ้น
  • จังหวะของดนตรี: จังหวะของดนตรีส่งผลต่อจังหวะที่เราใช้ในการรับประทาน ดนตรีที่เร็วจะกระตุ้นให้เกิดการรับประทานที่เร็วขึ้น ในขณะที่ดนตรีช้าจะกระตุ้นให้เกิดความผ่อนคลาย ทำให้เราสามารถทานอาหารได้ช้าลงและลิ้มรสชาติของอาหารได้อย่างเต็มที่
  • ระดับเสียงของดนตรี (Pitch): ระดับเสียงของดนตรีก็ส่งผลต่อรสชาติเช่นกัน ระดับเสียงสูงอาจช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงรสชาติที่หวานและเปรี้ยว ในขณะที่ดนตรีที่มีระดับเสียงต่ำอาจช่วยเพิ่มรสชาติที่ขมหรือเผ็ดได้
  • บริบทในการเล่นดนตรี: บริบทหรือประสบการณ์ที่เรามีร่วมกับดนตรีมีบทบาทสำคัญในการทานอาหาร ตัวอย่างเช่น หากเพลงใดเพลงหนึ่งมอบประสบการณ์เชิงบวกในการทานอาหาร การได้ยินเพลงนั้นอีกครั้งอาจทำให้เกิดความทรงจำเกี่ยวกับรสชาติที่ดีของอาหารนั้นได้
  • ความชอบส่วนตัว: ผู้คนมีความชอบเฉพาะตัวในเรื่องดนตรี และความชอบเหล่านี้ส่งผลต่อความเพลิดเพลินในการทานอาหาร เพราะหากเรากำลังเพลิดเพลินกับมื้ออาหารอยู่ แต่ในขณะเดียวกันร้านอาหารดันเปิดเพลงที่ไม่ตรงกับแนวทางที่เราชอบ ก็อาจจะทำให้ความสุขในมื้ออาหารนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่าอิทธิพลของดนตรีต่อการรับรู้รสชาติเป็นปรากฏการณ์ที่หลากหลายและน่าสนใจ โดยเน้นย้ำถึงความซับซ้อนระหว่างประสาทสัมผัสและวิธีการทานอาหาร ซึ่งร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งต่างก็ตระหนักถึงศักยภาพของดนตรีในการเพิ่มรสชาติของอาหาร จนนำไปสู่การคัดสรรดนตรีอย่างพิถีพิถัน เพื่อสร้างบรรยากาศอันน่ารื่นรมย์ให้กับการทานอาหารและการเลือกซื้อสินค้า
Tags :

บทความที่เกี่ยวข้อง
Food Coloring (สีผสมอาหาร)
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Food Coloring (สีผสมอาหาร) จากธรรมชาติ สู่สารสังเคราะห์ และการกลับคืนสู่ธรรมชาติ
Agar Agar (อาก้าอาก้า)
ทำความรู้จัก Agar Agar (อาก้าอาก้า) ภูมิปัญญาญี่ปุ่นสู่ส่วนผสมมหัศจรรย์ในโลกอาหาร
Juniper (จูนิเปอร์)
ทำความรู้จัก Juniper (จูนิเปอร์) สมุนไพรตะวันตกหนึ่งในส่วนผสมสำหรับทำเหล้าจิน
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ