แชร์

Food Coloring (สีผสมอาหาร)

ในโลกของการทำอาหาร มีส่วนผสมนับไม่ถ้วนที่ช่วยเพิ่มรสชาติ เนื้อสัมผัส และความสร้างสรรค์ให้กับอาหาร โดยส่วนผสมอย่างหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของเชฟ คนทำขนม และผู้ที่ชื่นชอบอาหารก็คือ สี โดยเฉพาะการผสมในอาหาร

สีจากธรรมชาติ: ภูมิปัญญาโบราณสู่ความสำคัญทางวัฒนธรรม

ผู้ตั้งถิ่นฐานในยุคแรก ๆ ซึ่งเป็นชาวอียิปต์โบราณได้ใช้พืชผัก สมุนไพร ผลไม้ เครื่องเทศ หรือแม้แต่แมลงนำมาสกัดเป็นสี เพื่อเพิ่มสีสันให้กับอาหารทำให้มีความสวยงามน่าดึงดูด

ในช่วงยุคกลางของยุโรป เมื่อวัฒนธรรมการใช้สีได้แพร่ขยายเข้ามา ชาวยุโรปก็ค้นพบวัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถนำมาสกัดเป็นสีได้จำนวนมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้สีผสมอาหารมีความหลากหลาย โดยชาวยุโรปจะนำวัตถุดิบต่าง ๆ มาบดแล้วแช่ในน้ำ เพื่อสร้างสีสันต่าง ๆ สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม

สีผสมอาหารมีความสำคัญทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลานานมาก โดยมักจะเชื่อมโยงกับประเพณีและงานเฉลิมฉลองในหลายวัฒนธรรม สีบางสีเกี่ยวข้องกับงานมงคลหรือมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น สีแดงสดใสที่ใช้ในอาหารจีนช่วงเทศกาลตรุษจีนแสดงถึงความโชคดีและความเจริญรุ่งเรือง หรือในอินเดียการใช้สีที่มีสีสันหลากหลายในขนมและของหวานในเทศกาล Holi festival เป็นต้น

การค้นพบสีสังเคราะห์: ความก้าวหน้าจากความผิดพลาด

ต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 Sir William Perkin (เซอร์วิลเลียม เพอร์กิน) นักเคมีชาวอังกฤษได้ค้นพบสีสังเคราะห์โดยบังเอิญในปี 1856 จากการทดลองผลิตยาควินิน ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย แต่การทดลองของเขากลับล้มเหลวไม่เป็นท่า อย่างไรก็ตามแม้สารเคมีที่เขาทดลองจะไม่สามารถกลายเป็นยาควินินได้อย่างใจหวัง แต่ในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น ได้นำไปสู่การค้นพบใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะสารที่เขาทดลองนั้นเป็นของเหลวที่เมื่อสัมผัสกับอะไรก็ตามจะกลายเป็น สีม่วง เมื่อเห็นเช่นนั้นเขาจึงเกิดไอเดียทำสีเคราะห์ เพราะประจวบเหมาะกับที่ช่วงนั้นสีจากธรรมชาติมีราคาแพงมากขึ้น ดังนั้นสีม่วงจึงถือเป็นสีสังเคราะห์ชนิดแรกของโลกนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ตามการทดลองผลิตยาควินินของเพอร์กิน ก็ไม่ได้ใช้ส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วการผลิตควินินจะต้องใช้เปลือกของต้นซิงโคนา ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงมาก ดังนั้นเพอร์กินจึงใช้ Coal tar ที่เป็นซากตะกอนจากการเผาไหม้ในน้ำมันตะเกียงมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาควินินสังเคราะห์ เนื่องจากมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกับสารสกัดจากต้นซิงโคนา ดังนั้นสีสังเคราะห์ที่ได้มาอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงนิยมใช้เป็นสีย้อมผ้าแทน

ความกังวลด้านความปลอดภัยและกฎระเบียบที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตามด้วยความที่สีจากธรรมชาติมีราคาแพง ผู้ผลิตอาหารหลายรายได้นำสีสังเคราะห์มาใช้แทนสีจากธรรมชาติ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตราย เพราะสีสังเคราะห์บางชนิดอาจจะปนเปื้อนมาด้วยสารตะกั่ว สารหนู และอื่น ๆ

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รัฐบาลจึงกำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เพื่อรับประกันความปลอดภัยของสารปรุงแต่งสีผสมอาหาร โดยกำหนดขีดจำกัดของปริมาณที่สามารถใช้ได้ และจะอนุมัติให้จำหน่ายเฉพาะสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่ถือว่าปลอดภัยสำหรับการบริโภคเท่านั้น

การกลับมาของสีจากธรรมชาติและบทบาทในปัจจุบัน

ดังนั้นเมื่อมีการพูดถึงความไม่ปลอดภัยของสีผสมอาหารสังเคราะห์กันมากขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสนใจในสีผสมอาหารจากธรรมชาติจึงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ผู้บริโภคกำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเติมแต่งสังเคราะห์มากขึ้นเรื่อย ๆ จึงนำไปสู่การสำรวจแหล่งที่มาจากธรรมชาติ เพื่อหาวัตถุดิบต่าง ๆ ที่สามารถนำมาสกัดเป็นสีได้ เช่น หญ้าฝรั่น แครอท ทับทิม องุ่น เบอร์รี่ หัวบีท พาร์สลีย์ ผักโขม และขมิ้น สำหรับนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

สีผสมอาหารเป็นมากกว่าแค่การตกแต่งธรรมดา เพราะทุกวันนี้สีผสมอาหารได้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับความเป็นเลิศในการทำอาหารและการแสดงออกทางศิลปะ เชฟและผู้ที่ชื่นชอบอาหารต่างทดลองผสมสี เทคนิค และการนำเสนอที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างอาหารที่สวยงามตระการตา จนอาจเรียกได้ว่าสีผสมอาหารมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์อาหารให้กลายเป็นงานศิลปะที่ตราตรึงใจ

Tags :

บทความที่เกี่ยวข้อง
Agar Agar (อาก้าอาก้า)
ทำความรู้จัก Agar Agar (อาก้าอาก้า) ภูมิปัญญาญี่ปุ่นสู่ส่วนผสมมหัศจรรย์ในโลกอาหาร
Juniper (จูนิเปอร์)
ทำความรู้จัก Juniper (จูนิเปอร์) สมุนไพรตะวันตกหนึ่งในส่วนผสมสำหรับทำเหล้าจิน
Garum (การัม)
ทำความรู้จัก Garum (การัม) น้ำปลาโบราณแห่งอารยธรรม
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ