วิทยาศาสตร์เบื้องหลังรสขม
เมื่อหลายล้านปีก่อนที่การแพทย์จะได้รับการพัฒนา มนุษย์ในยุคแรกๆ มักจะหาอาหารป่ามาประทังชีวิต ซึ่งพวกเขาสังเกตพบว่าอาหารป่าบางชนิดนั้นมีรสขม และเป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นมนุษย์จึงเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสขมโดยสัญชาตญาณ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเทคนิคทางการแพทย์ได้รับการพัฒนามากขึ้น มนุษย์เริ่มรับรู้แล้วว่าอาหารที่มีรสขมไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งหมด แต่อาหารที่มีรสขมบางชนิดยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย พวกเขาเริ่มนำสมุนไพรที่มีรสขมมาปรุงเป็นยารักษาโรค หรือแม้แต่นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม อย่างเช่น กาแฟ เบียร์ สุรา และเครื่องดื่มช่วยย่อยอาหาร สิ่งนี้จึงเป็นแนวทางในการเปิดรับรสขมมากขึ้น
วิทยาศาสตร์เบื้องหลังรสขม : ทำไมบางคนไม่ชอบ และบางคนหลงรัก
ถึงแม้มนุษย์จะค้นพบว่าอาหารที่มีรสขมบางอย่างนั้นมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกาย แต่ก็ยังมีคนอีกหลายคนที่ไม่ชอบรสขม ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายเอาไว้ว่าความชอบในเรื่องรสชาติของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณของ ต่อมรับรส ที่อยู่บนลิ้นของเรา นั่นจึงหมายความว่าเราทุกคนจะมีปฏิกิริยาต่ออาหารชนิดเดียวกันที่แตกต่างกัน
แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าคนที่ไม่ชอบรสขมจะไม่สามารถทานอาหารรสขมได้เลย เรื่องนี้ก็มีการอธิบายเอาไว้เช่นกันว่า การเลือกทานอาหารรสขมนั้นแตกต่างจากรสหวาน หรือรสเค็ม ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากรสขมต้องผ่านการสัมผัสซ้ำๆ ก่อนถึงจะเกิดความคุ้นชิน และความชอบได้
โดยทั่วไปแล้วรสขมจะปรากฏอยู่น้อยมากในอาหารที่เราทาน เพราะแม้แต่ตอนที่เรายังเด็ก อาหารหรือน้ำดื่มแทบจะทุกอย่างจะไม่มีรสขมเลย นอกจากยาบางชนิด ดังนั้นเราจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้สัมผัสกับรสขมบ่อยๆ แต่จะได้สัมผัสกับรสหวาน หรือเค็มมากกว่า สิ่งนี้จึงทำให้เราหลายคนไม่ชอบรสขมมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง
จากไม่ชอบวัยเด็ก สู่ความหลงใหลเมื่อเติบโต
ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่ชอบรสขมเลย แต่พอโตขึ้นหลายคนทำไมถึงชอบทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีรสขม นั่นอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้รสชาติ เพราะเมื่อเรามีอายุมากขึ้น เราก็มีโอกาสได้ทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีรสขมมากขึ้น เช่น กาแฟที่มีรสขม แต่เมื่อเราทานเป็นประจำทุกวันรสขมนั้นก็กลายเป็นความคุ้นชิน
ประโยชน์และวัฒนธรรมของรสขมที่หลายคนมองข้าม
แม้รสขมจะถูกมองว่าเป็นรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ แต่หลายคนที่เลือกทานอาหารรสขมก็อาจจะมีความต้องการบางอย่างที่ทำให้จำเป็นต้องทาน นั่นเป็นเพราะอาหารรสขมหลายชนิด เช่น ผักใบเขียวอย่างผักคะน้า บรอกโคลี กะหล่ำปลี และผักร็อกเก็ต อุดมไปด้วย สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งมีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร ลดการอักเสบ และทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น
รวมถึงการดื่มกาแฟที่หลายคนอาจจะไม่ชอบรสขมแต่ต้องดื่มกาแฟ เพราะต้องการคาเฟอีนหรือกลิ่นหอมจากกาแฟ วัฒนธรรมของชาวอิตาลี ที่มักจะดื่มเครื่องดื่มประเภท Aperol ที่มีรสขมมาก เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร และการดื่มเครื่องดื่มรสขม เช่น Campari และ Fernet-Branca หลังมื้ออาหารเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่ารสขมนั้นมีประโยชน์อยู่หลายประการ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนเลือกทานอาหารรสขม เพื่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว