แชร์

HP Sauce (เอชพี ซอส)

HP Sauce (เอชพี ซอส) เป็นซอสสีน้ำตาลเข้มข้นสไตล์อังกฤษ ทำจากส่วนผสมหลักคือมะเขือเทศ สารสกัดจากมะขาม และน้ำส้มสายชูมอลต์ (Malt Vinegar) นิยมทานคู่กับสเต็ก ไส้กรอก เฟรนช์ฟรายส์ แซนด์วิช บาร์บีคิว และแฮมเบอร์เกอร์ วันนี้ Rimping Supermarket จะพาคุณไปเจาะลึกเรื่องราวของซอสขวัญใจชาวอังกฤษที่อยู่คู่ครัวมานานกว่าศตวรรษนี้กันค่ะ

จุดเริ่มต้นและชื่ออันเป็นตำนาน: จาก The Banquet Sauce สู่ HP Sauce (ค.ศ. 1884 - 1895)

เรื่องราวของ HP Sauce เริ่มต้นขึ้นในปี 1884 โดย Frederick Gibson Garton พ่อค้าของชำในเมืองน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ตำนานเล่าว่า Garton มีความสนใจในการทำเครื่องปรุงรส เขาจึงคิดค้นซอสชนิดหนึ่งขึ้นมาที่โรงงานของเขา โดยนำน้ำส้มสายชูมอลต์ มะเขือเทศ อินทผาลัม สารสกัดจากมะขาม กากน้ำตาล แป้งข้าวไรย์ และเครื่องเทศต่างๆ มาผสมเข้าด้วยกัน จนได้ซอสที่มีรสชาติเข้มข้นเปรี้ยวหวานกลมกล่อม

เมื่อได้สูตรที่สมบูรณ์แล้ว ในปี 1890 Garton จึงจดเครื่องหมายการค้าสำหรับซอสของเขาในชื่อ The Banquet Sauce หลังจากเปิดตัวได้ไม่นานซอสของเขาก็ได้รับความนิยมไปทั่วเมืองน็อตติงแฮม แต่อยู่มาวันหนึ่ง Garton ก็ได้ข่าวว่าซอสของเขาถูกนำไปเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารในรัฐสภาอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ในปี 1895 เขาจึงเปลี่ยนชื่อซอสมาเป็น Gartons HP Sauce โดย HP นั้นมาจากชื่อย่อรัฐสภาของลอนดอนที่เรียกว่า Houses of Parliament

การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ส่งผลให้แบรนด์ของเขาได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะเขาเริ่มทำการตลาดโดยโฆษณาว่า Is used on the dining tables of the House of Parliament แปลว่าใช้บนโต๊ะอาหารของรัฐสภา

การเปลี่ยนมือและโลโก้ iconic: ภาพรัฐสภาบนฉลาก (ค.ศ. 1903 - 1988)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบรนด์ของเขาจะเริ่มได้รับความนิยม แต่ในปี 1903 Garton ก็ประสบปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากเขาติดหนี้บริษัทน้ำส้มสายชูมอลต์ ซึ่งพยายามอุทธรณ์อยู่หลายครั้งแต่ใช้หนี้เท่าไหร่ก็ไม่หมด จนในที่สุดเขาก็ถูกบังคับให้ขายเครื่องหมายการค้า และสูตรให้กับ Edwin Samson Moore ผู้ก่อตั้ง Midlands Vinegar Company บริษัทน้ำส้มสายชูมอลต์ ในเมืองเบอร์มิงแฮม

หลังจากได้เครื่องหมายการค้าของ Garton มาแล้ว Moore ก็เล็งเห็นศักยภาพของซอสนี้ จากนั้นเขาจึงเริ่มผลิตซอสจำหน่ายอีกครั้ง โดยตัดชื่อ Garton ออกเหลือเพียง HP Sauce และทำฉลากใหม่ขึ้นมา โดยเพิ่มภาพพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์ของรัฐสภาลงไปบนฉลากด้วยเลย

ฉลากที่มีรูปรัฐสภาช่วยทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเครื่องปรุงรสหลักในครัวเรือนทั่วอังกฤษ ซึ่งเข้ากันได้อย่างลงตัวกับอาหารหลากหลายประเภทตั้งแต่สเต็ก ไส้กรอก เฟรนช์ฟรายส์ แซนด์วิช บาร์บีคิว และแฮมเบอร์เกอร์

ในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 HP Sauce ก็หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมอังกฤษมากยิ่งขึ้น เนื่องจากซอสนี้มักจะรวมอยู่ในอาหารของทหารที่ต้องสู้รบในต่างแดน รสชาติที่เข้มข้นของซอสช่วยเสริมรสชาติอาหารที่จืดชืดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับทหารที่คิดถึงรสชาติของบ้านเกิดอีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัท Midlands Vinegar Company ก็ได้ควบรวมกิจการกับ Smedley's ซึ่งเป็นบริษัทในเบอร์มิงแฮมอีกแห่งหนึ่ง ก่อตั้ง HP Foods ขึ้นมา เพื่อขยายสายผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอ HP Sauce รูปแบบใหม่ๆ เช่น HP Fruity Sauce และ HP BBQ Sauce

การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์และการกลับคืนสู่บ้านเกิด (ค.ศ. 1988 - ปัจจุบัน)

ในปี 1988 Groupe Danone บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสได้เข้ามาซื้อกิจการ HP Foods นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ HP Sauce ก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ แต่แล้วในปี 2005 Heinz บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากซอสมะเขือเทศก็เข้ามาซื้อกิจการ HP Foods

หลังจากซื้อกิจการ Heinz ก็สั่งปิดโรงงาน HP Sauce ในเมืองเบอร์มิงแฮม ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตซอสมานานกว่า 100 ปี และย้ายการผลิตไปยังเนเธอร์แลนด์ สิ่งนี้ทำให้เกิดการประท้วงจากประชาชนชาวอังกฤษ เนื่องจากกังวลว่าสูตร และคุณภาพจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงกระนั้น Heinz ก็ให้สัญญากับผู้บริโภคว่าเขาจะยังคงรักษาสูตร และคุณภาพของ HP Sauce ไม่ให้เปลี่ยนแปลง

ในปี 2017 HP Foods ก็ถูกขายอีกครั้งให้กับ Unilever บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของ HP Sauce ในฐานะซอสยอดนิยม เพราะแม้จะถูกขายต่ออยู่หลายครั้ง แต่ปัจจุบัน HP Sauce ก็ยังคงได้รับความนิยม และในที่สุดซอสนี้ก็ได้กลับมาสู่อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดอีกด้วย

ปัจจุบัน HP Sauce มีจำหน่ายกว่า 60 ประเทศ ทั่วโลก และยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงรสที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหราชอาณาจักร กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มักจะถูกกล่าวถึงในวรรณกรรม รายการโทรทัศน์ และดนตรี

Tags :

บทความที่เกี่ยวข้อง
Mayver's (เมย์เวอร์ส)
ทำความรู้จัก Mayver's (เมย์เวอร์ส) แบรนด์อาหารสุขภาพจากออสเตรเลีย ที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ
Ecostore (อีโคสโตร์)
ทำความรู้จัก Ecostore (อีโคสโตร์) แบรนด์ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากประเทศนิวซีแลนด์
King Oscar (คิงออสการ์)
ทำความรู้จัก King Oscar (คิงออสการ์) แบรนด์อาหารทะเลกระป๋องชั้นนำจากประเทศนอร์เวย์ที่ได้รับการรับรองจากราชวงศ์
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ