ภัยพิบัติกากน้ำตาลครั้งใหญ่
ในวันที่ท้องฟ้าสดใสในเดือนมกราคมปี 1919 บนถนน Commercial Street ย่านตอนเหนือของเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนเริ่มออกมาใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติ พ่อค้าแม่ค้าออกมาเร่ขายของ เด็กๆ ก็วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ภัยพิบัติที่ไม่คาดคิดจากกากน้ำตาล จะอุบัติขึ้น
ต้นกำเนิดของภัยพิบัติ: ถังเก็บกากน้ำตาลที่ไม่สมบูรณ์
จุดเริ่มต้นของ ภัยพิบัติกากน้ำตาลครั้งใหญ่ (The Great Molasses Flood) มาจากโรงงาน Purity Distilling Company ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท United States Industrial Alcohol Company (USIA) บริษัทแห่งนี้เป็นผู้ผลิตกากน้ำตาลสำหรับทำแอลกอฮอล์และอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงสงคราม แอลกอฮอล์เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับเหล่าทหาร โดยเฉพาะเหล้ารัมที่ใช้กากน้ำตาลในการผลิต รวมถึงการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ต้องใช้กากน้ำตาลเพื่อผลิตเอทานอลสำหรับทำเชื้อเพลิงด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ในปี 1915 บริษัทจึงสร้างถังเก็บกากน้ำตาลขนาดใหญ่ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร และสามารถบรรจุกากน้ำตาลปริมาณมหาศาลกว่า 8,700,000 ลิตร (เทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 3 สระ) การก่อสร้างถังนี้ดำเนินไปอย่างเร่งรีบและ ขาดการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อให้ทันต่อความต้องการในช่วงสงคราม โดยรับเอากากน้ำตาลจากทางฝั่งแคริบเบียนมาเก็บไว้และส่งไปผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาตลอดเป็นเวลา 4 ปี
ในช่วงเวลาดังกล่าว มี เสียงดังของโลหะลั่นออกมาอยู่เรื่อยๆ ผิวหน้าของถังก็เริ่มหลุดลอกออกมา รวมถึงมี การรั่วไหลของกากน้ำตาลออกมานองอยู่บนพื้นถนน พนักงานในโรงงานแห่งนี้ได้มีการแจ้งเตือนไปยังหัวหน้าและผู้มีอำนาจถึงความผิดปกติของโครงสร้างถัง แต่ก็มีเพียงการแก้ไขอุดรูรั่วเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เสียงของโลหะยังคงดังต่อเนื่องจนชาวเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาลีและไอริช เริ่มคุ้นเคยกับการได้ยินเสียงดังก้องและเสียงโลหะดังเล็ดลอดออกมาจากถังราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
นาทีแห่งหายนะ : คลื่นสึนามิกากน้ำตาล
จนกระทั่งตอนเที่ยงของวันที่ 15 มกราคมในปี 1919 อุณหภูมิในวันนี้ถือว่าสูงกว่าปกติเล็กน้อยสำหรับฤดูหนาวในบอสตัน ถนน Commercial Street ยังคงคึกคักเหมือนเช่นทุกวัน เสียงคนงาน เสียงกระทบพื้นของเกือกม้า รถไฟที่เข้ามาเทียบชานชาลา ที่สถานีดับเพลิง Engine 31 กลุ่มนักดับเพลิงนั่งทานอาหารกลางวันพลางเล่นไพ่กันอย่างเพลิดเพลิน ชาวเมืองสองสามคนกำลังเก็บไม้ไปทำฟืนใกล้ๆ กับบริเวณถังเก็บกากน้ำตาล พนักงานที่ทำงานกะดึกอยู่ในบาร์ก็กำลังนอนหลับพักผ่อน ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติสุข
แต่แล้วเวลา 12.40 น. ความสงบของวันนั้นถูกกลบด้วย เสียงแผดดังกึกก้องของถังโลหะที่ถูกแรงดันจากกากน้ำตาลปริมาณมหาศาล ตัวถังนั้นแตกออก โลหะที่ห่อหุ้มของเหลวหนืดข้นถูกฉีกและเปิดออกเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ กากน้ำตาลทะลักออกมา ไหลไปตามถนนแคบๆ ทั่วทั้งเมือง ราวกับคลื่นสึนามิ
รายงานจาก Boston Post กล่าวว่า กากน้ำตาลที่ทะลักออกมานั้นมีความสูงประมาณ 4-12 เมตร (15-40 ฟุต) เคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงถึง 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (35 ไมล์ต่อชั่วโมง) ทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า อาคารบ้านเรือน รถยนต์ และกวาดล้างผู้คนจำนวนมากให้จมหายไปในกระแสกากน้ำตาลสีเข้ม
วินาทีชีวิตและการช่วยเหลือ
ชาวเมืองทั้งสามคนที่กำลังเก็บฟืนใกล้ๆ จุดเกิดเหตุ ถูกคลื่นกากน้ำตาลกลืนหายไปทันที คนหนึ่งจมอยู่ข้างใต้และเสียชีวิตจากการขาดอากาศ อีกคนเสียชีวิตจากคลื่นที่ซัดรถรางพุ่งมากระแทกร่าง ส่วนอีกคนบาดเจ็บสาหัสจากการที่ศีรษะไปกระแทกกับเสาไฟฟ้า
พนักงานบาร์ที่เพิ่งตื่นขึ้นมาพบว่าบ้านของตนกำลังถล่ม ยังไม่ทันจะตั้งสติได้ ตัวเขาตกลงไปในคลื่นกากน้ำตาลจนเกือบจะจมลงไปข้างใต้ แต่โชคยังเข้าข้างที่เขายังพาตัวเองไปที่ที่นอนที่ลอยอยู่ใกล้ๆ และเอาชีวิตรอดมาได้ อีกทั้งยังสามารถไปช่วยน้องสาวของตัวเองได้ทัน แต่น่าเสียดายที่แม่และน้องชายของเขาต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
ความช่วยเหลือมาถึงอย่างรวดเร็ว ทั้งตำรวจและทหารเรือ ที่พยายามลุยฝ่ากากน้ำตาลที่มีลักษณะคล้ายทรายดูด ซึ่งเริ่มแข็งตัวจากอากาศเย็น เพียงไม่นานกลุ่มกู้ภัยก็เริ่มพาผู้รอดชีวิตออกจากซากปรักหักพังได้ รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มนักดับเพลิงที่สถานีดับเพลิง Engine 31 หลังจากพื้นชั้น 2 ของอาคารถล่มลงมาทับจนติดอยู่ด้านใน การช่วยเหลือนักดับเพลิงเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะซากอาคารที่ทับถมกันจนแน่นหนา จนสุดท้ายนักดับเพเพลิงหนึ่งคนก็หมดแรงและจมกากน้ำตาลจนเสียชีวิตไปอีกคน
ผลกระทบและบทเรียนที่สำคัญ
ภารกิจกู้ภัยดำเนินต่อไปอีกหลายวัน ยอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 21 ราย และบาดเจ็บอีก 150 ราย เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเท่านั้น แต่สิ่งก่อสร้าง ต้นไม้ หรือแม้แต่สัตว์ต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากกากน้ำตาลที่เหนียวหนืดได้แข็งตัวและเกาะติดไปกับทุกสิ่ง กระบวนการทำความสะอาดเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะล้างออก แม้กระทั่งน้ำทะเลในท่าเรือยังเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลนานหลายสัปดาห์
ในปี 1925 บริษัท United States Industrial Alcohol Company (USIA) ถูกตัดสินให้มีความผิดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 300,000 ดอลลาร์ (หากปรับตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะอยู่ราวๆ 30 ล้านดอลลาร์) ให้แก่ผู้ประสบเหตุและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นับเป็นการพิจารณาคดีแพ่งที่ยาวนานและมีค่าเสียหายที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐแมสซาชูเซตส์ นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังกระตุ้นให้เกิด การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่คล้ายกันในอนาคตอีกด้วย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสอบโครงสร้างและความปลอดภัยในการก่อสร้าง
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 1995 สถานที่แห่งนี้กลายเป็นสวนสาธารณะริมท่าเรือ มีการวาง แผ่นจารึกโลหะสีเขียวและสีขาว อยู่ที่บริเวณเดิมของถังกากน้ำตาล เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอย่างเป็นทางการแห่งแรกและแห่งเดียวสำหรับภัยพิบัติครั้งนี้ เตือนใจถึงบทเรียนอันเจ็บปวดจากความประมาทและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมัน