Jack Daniel's (แจ็ค แดเนียลส์)
หากพูดถึงอเมริกันวิสกี้ หนึ่งในชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง นั่นคือ แจ็ค แดเนียลส์ (Jack Daniel's) เจ้าของวลีในตำนาน Its not Scotch. Its not Bourbon. Its Jack. ที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน และเป็นเครื่องยืนยันว่า Jack Daniel's ไม่ใช่วิสกี้ธรรมดา แต่คือวิสกี้เทนเนสซีที่มีตัวตนเป็นของตัวเอง
จุดเริ่มต้นของผู้บุกเบิก: แจสเปอร์ นิวตัน แดเนียล
เรื่องราวของ Jack Daniel's เริ่มต้นขึ้นในเมืองลินช์เบิร์ก รัฐเทนเนสซี โดย Jasper Newton Daniel (แจสเปอร์ นิวตัน แดเนียล) หรือที่รู้จักกันในนาม แจ็ค ลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 10 คนของตระกูล Daniel แจ็คในวัยเยาว์เกิดมาในครอบครัวใหญ่และสมบูรณ์แบบ แต่อยู่มาวันหนึ่งชีวิตของเขาก็ต้องพลิกผันอย่างไม่คาดคิด เมื่อแม่ของเขาเสียชีวิตแล้วพ่อไปแต่งงานใหม่ ซึ่งแจ็คนั้นไม่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ที่มีแม่เลี้ยงของเขาอยู่ร่วมด้วยได้ แจ็คจึงหนีออกจากบ้านจนกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุได้เพียง 7 ปี
การเรียนรู้และก่อตั้งโรงกลั่น: จากนักกลั่น Moonshine สู่ผู้ประกอบการ
ต่อมาแจ็คถูกรับไปเลี้ยงดูโดย Dan Call (แดน คอลล์) นักเทศน์ในท้องถิ่น ซึ่งบังเอิญเป็นนักกลั่นสุราเถื่อน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Moonshine ทำให้แจ็คได้เรียนรู้ศิลปะการกลั่นและเคล็ดลับในการผลิตวิสกี้ชั้นเลิศมาอย่างลึกซึ้ง ในปี ค.ศ. 1866 แจ็คในวัย 16 ปี ได้ก่อตั้งโรงกลั่นสุราที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอเมริกาขึ้นมา โดยมีแดน คอลล์ เป็นผู้ควบคุมกิจการทั้งหมดในระยะแรก แต่ด้วยเหตุผลทางศาสนา ในเวลาต่อมาคอลล์จึงวางมือแล้วปล่อยให้แจ็คบริหารด้วยตัวเอง ซึ่งเขาได้เปลี่ยนชื่อโรงกลั่นสุรานี้ให้เป็นชื่อของเขาว่า Jack Daniel's ในที่สุด
หัวใจสำคัญของ Tennessee Whiskey: Charcoal Mellowing
ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกระบวนการผลิตวิสกี้ แจ็ค แดเนียล จึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์วิสกี้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากวิสกี้ชนิดอื่นๆ ซึ่งการผลิตวิสกี้ของเขามีวัตถุดิบสำคัญอย่างข้าวโพด ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ ตามด้วยน้ำธรรมชาติจากแหล่งน้ำใต้ดินของเมืองลินช์เบิร์ก ที่มีอุณหภูมิคงที่ 13 องศาเซลเซียส และปราศจากธาตุเหล็ก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรสชาติของวิสกี้
การผลิต Jack Daniel's เริ่มต้นเหมือนกับการผลิตเบอร์เบิ้นทั่วไป แต่แตกต่างกันตรงที่เขานำเทคนิครูปแบบใหม่มาใช้นั่นคือการกรองผ่านชั้นถ่านไม้ที่ได้จากการเผาไม้ Sugar Maple (ชูการ์ เมเปิล) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับที่ให้ผลผลิตน้ำเชื่อม Maple Syrup กระบวนการนี้เรียกว่า Charcoal Mellowing (ชาร์โคล เมลโลวิง) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lincoln County Process (ลินคอล์น เคาน์ตี้ โพรเซส) เป็นที่มาของรสชาตินุ่มนวลเป็นพิเศษที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน นี่ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Jack Daniel's ไม่เหมือนวิสกี้หรือเบอร์เบิ้นชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงเรียกตัวเองว่าเป็น Tennessee Whiskey ซึ่งเป็นการนิยามประเภทวิสกี้ใหม่ที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร
หลังจากกรองผ่านถ่านไม้แล้ว วิสกี้จะถูกนำไปบ่มในถังไม้โอ๊คขาวที่ถูกเผาไหม้ด้านใน (Charred White Oak Barrels) เพื่อรอเวลาสำหรับการนำมาจำหน่าย ซึ่งความโดดเด่นของ Jack Daniel's ยังมาจากกระบวนการผลิตและการกลั่นที่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทดสอบกลิ่น รสชาติ และคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดีที่สุดในทุกขั้นตอน
สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ: ขวดสี่เหลี่ยมและเลข 7
ในปี 1897 แจ็คมีไอเดียที่จะใช้ขวดทรงสี่เหลี่ยมในการบรรจุวิสกี้ของเขา เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการขนส่ง ซึ่งเป็นผลให้แบรนด์ของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น นอกจากนี้ เลข 7 ที่คุ้นเคยที่ติดอยู่บนฉลากของ Jack Daniel's ยังมีที่มาจากหมายเลขลำดับการจดทะเบียนโรงกลั่นกับรัฐบาล แต่หลังการแบ่งเขตโดยรัฐบาลอีกครั้ง โรงกลั่นของแจ็คก็ถูกตีเลขให้เป็นหมายเลข 16 เขต 5 แทนที่ของเดิมคือหมายเลข 7 เขต 4 แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกบังคับให้เปลี่ยนหมายเลขจดทะเบียนแต่แจ็คก็ยังคงใช้หมายเลข 7 บนฉลากของเขาอยู่เหมือนเดิม เพราะหมายเลข 7 บนฉลากของ Jack Daniel's กลายเป็นที่จดจำของทุกคนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ที่ไม่มีใครเหมือน
ในปี 1904 Jack Daniel's ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากได้รับรางวัลเหรียญทองวิสกี้ที่ดีที่สุดที่งาน St. Louis World's Fair ซึ่งเป็นเครื่องการันตีคุณภาพและความยอดเยี่ยมระดับโลก เอกลักษณ์ของ Jack Daniel's นั้น แน่นอนว่าต้องเป็นความนุ่มนวลที่ยากจะเลียนแบบ โดยทั้งหมดนี้มาจากความใส่ใจในกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน หลายขั้นตอน และปราณีตที่สืบทอดกันมา
มรดกที่สืบทอด: จากแจ็คสู่เล็ม มอตโลว์
หลายปีต่อมา แจ็คได้มอบหมายให้หลานชายที่ชื่อว่า Lem Motlow (เล็ม มอตโลว์) ลูกชายของน้องสาว มารับช่วงสืบทอดกิจการต่อ เพราะเขาไว้ใจมากที่สุดและคิดว่า Lem จะช่วยสืบทอดเจตนารมณ์ของเขาในการผลิตวิสกี้ชั้นยอดได้ เนื่องจาก Lem ได้พูดประโยคหนึ่งขึ้นมา ซึ่งแจ็คประทับใจมากว่า Every day we make it, well make it the best we can. (ทุกๆ วันที่เราผลิตวิสกี้ออกมา เราจะต้องทำมันให้ดีที่สุด) วลีนี้กลายเป็นปรัชญาที่ยึดมั่นของโรงกลั่นมาจนถึงทุกวันนี้
หลังจากแจ็คได้เสียชีวิตลงไปในปี ค.ศ. 1911 Lem Motlow ก็กลายเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัว ซึ่ง Lem ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตวิสกี้ที่ดีที่สุด แต่เขายังเป็นนักธุรกิจที่ดีด้วย เนื่องจากตอนที่อเมริกาประกาศห้ามผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Prohibition) เขาก็หันไปทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องปั่นด้าย ซึ่งธุรกิจก็ไปด้วยดี แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความยืดหยุ่นในการปรับตัวทางธุรกิจ
จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง รัฐบาลอนุญาตให้กลับมาผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกครั้ง เขาจึงเริ่มธุรกิจโรงกลั่น Jack Daniel's ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1938 แต่เปิดได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมารัฐบาลก็สั่งปิดโรงกลั่นอีกครั้ง แต่พอสงครามสงบลงรัฐบาลก็เริ่มให้ผลิตได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1946 แต่อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ได้เริ่มเปิดโรงกลั่นในทันที เนื่องจากวัตถุดิบที่ดีจะต้องถูกจัดให้เป็นเสบียงสำหรับประเทศก่อน จึงเหลือเพียงแต่วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพเท่านั้นสำหรับการผลิตวิสกี้ เขาจึงตัดสินใจไม่ผลิตถ้าไม่ได้วัตถุดิบที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นการยึดมั่นในคุณภาพอย่างแท้จริง
หลังจากรัฐบาลเริ่มคลายกฎในการจัดหาเสบียง เขาก็สามารถหาวัตถุดิบชั้นเยี่ยมสำหรับผลิตวิสกี้ได้ จึงเปิดโรงกลั่นอีกครั้งหนึ่งตอนปลายปี ค.ศ 1947 ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ Jack Daniel's เปลี่ยนฉลากจากสีเขียวมาเป็นสีดำอันเป็นเอกลักษณ์แบบที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งและโดดเด่นให้กับแบรนด์
Jack Daniel's ในปัจจุบัน: มรดกแห่งคุณภาพจากลินช์เบิร์ก
เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมของ Jack Daniel's ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วย ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 รสชาติที่นุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ของ Jack Daniel's ได้กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างแพร่หลาย โดยเหล่านักดื่มต่างก็ชื่นชมในคุณภาพที่สม่ำเสมอและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ Jack Daniel's เป็นวิสกี้อเมริกันชนิดแรกที่จำหน่ายในสหภาพโซเวียตและยังคงขยายการเข้าถึงทั่วโลกอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทุกวันนี้ กระบวนการผลิต Jack Daniel's ที่ได้รับการยกย่องตั้งแต่ปี 1866 ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะมีการสืบทอดมาหลายรุ่น แต่ผู้ผลิตก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นเอาไว้ แม้จะประสบความสำเร็จในระดับโลก แต่ Jack Daniel's ยังคงมีรากฐานมาจากเมืองลินช์เบิร์ก รัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นแห่งแรก
โดยเมืองแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่สำหรับผู้ชื่นชอบวิสกี้ โดยมีการจัดทัวร์โรงกลั่น เพื่อชมวิธีการอันเก่าแก่ที่ใช้ในการผลิตวิสกี้เทนเนสซีของ Jack Daniel's ซึ่งโรงกลั่นยังคงรักษาประเพณีและสูตรที่แจ็คสร้างขึ้น เพื่อสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ดั้งเดิมและเป็นเกียรติให้กับ Jasper Newton Daniel ตำนานผู้บุกเบิก Jack Daniel's วิสกี้เทนเนสซีอันเป็นที่รักของคนทั่วโลก และยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกลั่นวิสกี้ทั่วโลก