แชร์

Jack Daniel's (แจ็ค แดเนียลส์)

หากพูดถึงอเมริกันวิสกี้ หนึ่งในชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง นั่นคือ แจ็ค แดเนียลส์ (Jack Daniel's) เจ้าของวลีในตำนาน Its not Scotch. Its not Bourbon. Its Jack. ที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน และเป็นเครื่องยืนยันว่า Jack Daniel's ไม่ใช่วิสกี้ธรรมดา แต่คือวิสกี้เทนเนสซีที่มีตัวตนเป็นของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของผู้บุกเบิก: แจสเปอร์ นิวตัน แดเนียล

เรื่องราวของ Jack Daniel's เริ่มต้นขึ้นในเมืองลินช์เบิร์ก รัฐเทนเนสซี โดย Jasper Newton Daniel (แจสเปอร์ นิวตัน แดเนียล) หรือที่รู้จักกันในนาม แจ็ค ลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 10 คนของตระกูล Daniel แจ็คในวัยเยาว์เกิดมาในครอบครัวใหญ่และสมบูรณ์แบบ แต่อยู่มาวันหนึ่งชีวิตของเขาก็ต้องพลิกผันอย่างไม่คาดคิด เมื่อแม่ของเขาเสียชีวิตแล้วพ่อไปแต่งงานใหม่ ซึ่งแจ็คนั้นไม่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ที่มีแม่เลี้ยงของเขาอยู่ร่วมด้วยได้ แจ็คจึงหนีออกจากบ้านจนกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุได้เพียง 7 ปี

การเรียนรู้และก่อตั้งโรงกลั่น: จากนักกลั่น Moonshine สู่ผู้ประกอบการ

ต่อมาแจ็คถูกรับไปเลี้ยงดูโดย Dan Call (แดน คอลล์) นักเทศน์ในท้องถิ่น ซึ่งบังเอิญเป็นนักกลั่นสุราเถื่อน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Moonshine ทำให้แจ็คได้เรียนรู้ศิลปะการกลั่นและเคล็ดลับในการผลิตวิสกี้ชั้นเลิศมาอย่างลึกซึ้ง ในปี ค.ศ. 1866 แจ็คในวัย 16 ปี ได้ก่อตั้งโรงกลั่นสุราที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอเมริกาขึ้นมา โดยมีแดน คอลล์ เป็นผู้ควบคุมกิจการทั้งหมดในระยะแรก แต่ด้วยเหตุผลทางศาสนา ในเวลาต่อมาคอลล์จึงวางมือแล้วปล่อยให้แจ็คบริหารด้วยตัวเอง ซึ่งเขาได้เปลี่ยนชื่อโรงกลั่นสุรานี้ให้เป็นชื่อของเขาว่า Jack Daniel's ในที่สุด

หัวใจสำคัญของ Tennessee Whiskey: Charcoal Mellowing

ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกระบวนการผลิตวิสกี้ แจ็ค แดเนียล จึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์วิสกี้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากวิสกี้ชนิดอื่นๆ ซึ่งการผลิตวิสกี้ของเขามีวัตถุดิบสำคัญอย่างข้าวโพด ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ ตามด้วยน้ำธรรมชาติจากแหล่งน้ำใต้ดินของเมืองลินช์เบิร์ก ที่มีอุณหภูมิคงที่ 13 องศาเซลเซียส และปราศจากธาตุเหล็ก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรสชาติของวิสกี้

การผลิต Jack Daniel's เริ่มต้นเหมือนกับการผลิตเบอร์เบิ้นทั่วไป แต่แตกต่างกันตรงที่เขานำเทคนิครูปแบบใหม่มาใช้นั่นคือการกรองผ่านชั้นถ่านไม้ที่ได้จากการเผาไม้ Sugar Maple (ชูการ์ เมเปิล) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับที่ให้ผลผลิตน้ำเชื่อม Maple Syrup กระบวนการนี้เรียกว่า Charcoal Mellowing (ชาร์โคล เมลโลวิง) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lincoln County Process (ลินคอล์น เคาน์ตี้ โพรเซส) เป็นที่มาของรสชาตินุ่มนวลเป็นพิเศษที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน นี่ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Jack Daniel's ไม่เหมือนวิสกี้หรือเบอร์เบิ้นชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงเรียกตัวเองว่าเป็น Tennessee Whiskey ซึ่งเป็นการนิยามประเภทวิสกี้ใหม่ที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร

หลังจากกรองผ่านถ่านไม้แล้ว วิสกี้จะถูกนำไปบ่มในถังไม้โอ๊คขาวที่ถูกเผาไหม้ด้านใน (Charred White Oak Barrels) เพื่อรอเวลาสำหรับการนำมาจำหน่าย ซึ่งความโดดเด่นของ Jack Daniel's ยังมาจากกระบวนการผลิตและการกลั่นที่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทดสอบกลิ่น รสชาติ และคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดีที่สุดในทุกขั้นตอน

สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ: ขวดสี่เหลี่ยมและเลข 7

ในปี 1897 แจ็คมีไอเดียที่จะใช้ขวดทรงสี่เหลี่ยมในการบรรจุวิสกี้ของเขา เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการขนส่ง ซึ่งเป็นผลให้แบรนด์ของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น นอกจากนี้ เลข 7 ที่คุ้นเคยที่ติดอยู่บนฉลากของ Jack Daniel's ยังมีที่มาจากหมายเลขลำดับการจดทะเบียนโรงกลั่นกับรัฐบาล แต่หลังการแบ่งเขตโดยรัฐบาลอีกครั้ง โรงกลั่นของแจ็คก็ถูกตีเลขให้เป็นหมายเลข 16 เขต 5 แทนที่ของเดิมคือหมายเลข 7 เขต 4 แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกบังคับให้เปลี่ยนหมายเลขจดทะเบียนแต่แจ็คก็ยังคงใช้หมายเลข 7 บนฉลากของเขาอยู่เหมือนเดิม เพราะหมายเลข 7 บนฉลากของ Jack Daniel's กลายเป็นที่จดจำของทุกคนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ที่ไม่มีใครเหมือน

ในปี 1904 Jack Daniel's ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากได้รับรางวัลเหรียญทองวิสกี้ที่ดีที่สุดที่งาน St. Louis World's Fair ซึ่งเป็นเครื่องการันตีคุณภาพและความยอดเยี่ยมระดับโลก เอกลักษณ์ของ Jack Daniel's นั้น แน่นอนว่าต้องเป็นความนุ่มนวลที่ยากจะเลียนแบบ โดยทั้งหมดนี้มาจากความใส่ใจในกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน หลายขั้นตอน และปราณีตที่สืบทอดกันมา

มรดกที่สืบทอด: จากแจ็คสู่เล็ม มอตโลว์

หลายปีต่อมา แจ็คได้มอบหมายให้หลานชายที่ชื่อว่า Lem Motlow (เล็ม มอตโลว์) ลูกชายของน้องสาว มารับช่วงสืบทอดกิจการต่อ เพราะเขาไว้ใจมากที่สุดและคิดว่า Lem จะช่วยสืบทอดเจตนารมณ์ของเขาในการผลิตวิสกี้ชั้นยอดได้ เนื่องจาก Lem ได้พูดประโยคหนึ่งขึ้นมา ซึ่งแจ็คประทับใจมากว่า Every day we make it, well make it the best we can. (ทุกๆ วันที่เราผลิตวิสกี้ออกมา เราจะต้องทำมันให้ดีที่สุด) วลีนี้กลายเป็นปรัชญาที่ยึดมั่นของโรงกลั่นมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากแจ็คได้เสียชีวิตลงไปในปี ค.ศ. 1911 Lem Motlow ก็กลายเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัว ซึ่ง Lem ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตวิสกี้ที่ดีที่สุด แต่เขายังเป็นนักธุรกิจที่ดีด้วย เนื่องจากตอนที่อเมริกาประกาศห้ามผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Prohibition) เขาก็หันไปทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องปั่นด้าย ซึ่งธุรกิจก็ไปด้วยดี แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความยืดหยุ่นในการปรับตัวทางธุรกิจ

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง รัฐบาลอนุญาตให้กลับมาผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกครั้ง เขาจึงเริ่มธุรกิจโรงกลั่น Jack Daniel's ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1938 แต่เปิดได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมารัฐบาลก็สั่งปิดโรงกลั่นอีกครั้ง แต่พอสงครามสงบลงรัฐบาลก็เริ่มให้ผลิตได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1946 แต่อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ได้เริ่มเปิดโรงกลั่นในทันที เนื่องจากวัตถุดิบที่ดีจะต้องถูกจัดให้เป็นเสบียงสำหรับประเทศก่อน จึงเหลือเพียงแต่วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพเท่านั้นสำหรับการผลิตวิสกี้ เขาจึงตัดสินใจไม่ผลิตถ้าไม่ได้วัตถุดิบที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นการยึดมั่นในคุณภาพอย่างแท้จริง

หลังจากรัฐบาลเริ่มคลายกฎในการจัดหาเสบียง เขาก็สามารถหาวัตถุดิบชั้นเยี่ยมสำหรับผลิตวิสกี้ได้ จึงเปิดโรงกลั่นอีกครั้งหนึ่งตอนปลายปี ค.ศ 1947 ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ Jack Daniel's เปลี่ยนฉลากจากสีเขียวมาเป็นสีดำอันเป็นเอกลักษณ์แบบที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งและโดดเด่นให้กับแบรนด์

Jack Daniel's ในปัจจุบัน: มรดกแห่งคุณภาพจากลินช์เบิร์ก

เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมของ Jack Daniel's ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วย ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 รสชาติที่นุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ของ Jack Daniel's ได้กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างแพร่หลาย โดยเหล่านักดื่มต่างก็ชื่นชมในคุณภาพที่สม่ำเสมอและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ Jack Daniel's เป็นวิสกี้อเมริกันชนิดแรกที่จำหน่ายในสหภาพโซเวียตและยังคงขยายการเข้าถึงทั่วโลกอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทุกวันนี้ กระบวนการผลิต Jack Daniel's ที่ได้รับการยกย่องตั้งแต่ปี 1866 ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะมีการสืบทอดมาหลายรุ่น แต่ผู้ผลิตก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นเอาไว้ แม้จะประสบความสำเร็จในระดับโลก แต่ Jack Daniel's ยังคงมีรากฐานมาจากเมืองลินช์เบิร์ก รัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นแห่งแรก

โดยเมืองแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่สำหรับผู้ชื่นชอบวิสกี้ โดยมีการจัดทัวร์โรงกลั่น เพื่อชมวิธีการอันเก่าแก่ที่ใช้ในการผลิตวิสกี้เทนเนสซีของ Jack Daniel's ซึ่งโรงกลั่นยังคงรักษาประเพณีและสูตรที่แจ็คสร้างขึ้น เพื่อสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ดั้งเดิมและเป็นเกียรติให้กับ Jasper Newton Daniel ตำนานผู้บุกเบิก Jack Daniel's วิสกี้เทนเนสซีอันเป็นที่รักของคนทั่วโลก และยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกลั่นวิสกี้ทั่วโลก


บทความที่เกี่ยวข้อง
Cognac (คอนญัก) และ Brandy (บรั่นดี)
Cognac (คอนญัก) และ Brandy (บรั่นดี) ต่างกันอย่างไร
Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู)
ไขข้อสงสัย Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู) แตกต่างกันอย่างไร? เปิดตำนานเครื่องดื่มแห่งเอเชียตะวันออก
Sake (สาเก)
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Sake (สาเก) เครื่องดื่มหลักประจำชาติแห่งแดนอาทิตย์อุทัย: จากพิธีกรรมสู่เครื่องดื่มระดับโลก
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ