ไขความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับอารมณ์และสุขภาพจิต
รู้หรือไม่ว่าอาหารไม่เพียงแค่ส่งผลต่อร่างกายของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลอย่างลึกซึ้งต่ออารมณ์และสุขภาพจิตของเราด้วย หลายครั้งที่เรากำลังรู้สึกแย่หรือเหนื่อยหน่ายใจ เรามักจะนึกถึงขนมหวานหรืออาหารอะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ทันที ดังคำกล่าวที่ว่า ถ้าลำไส้ของเรามีความสุข เราก็จะมีความสุขตามไปด้วย ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงที่น่าสนใจนี้
ลำไส้และสมอง: ระบบสื่อสารสองทิศทาง
การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและอารมณ์เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์ เพราะต้องระบุให้แน่ชัดว่าสารอาหารชนิดใดบ้างที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์และสุขภาพจิตของเรา โดยในการศึกษานี้ ตัวการหลักคือ ลำไส้และสมอง ซึ่งเป็นระบบสื่อสารแบบสองทิศทางที่เชื่อมโยงระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทส่วนกลางเข้าไว้ด้วยกันอย่างซับซ้อน
ลำไส้ของเรามีจุลินทรีย์หลายล้านล้านตัว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการย่อยและดูดซึมสารอาหารที่เราบริโภคเข้าไป รวมถึงการควบคุมอารมณ์ การวิจัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าจุลินทรีย์เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการผลิตสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และพฤติกรรมของเรา
สมองของเรามีสารสื่อประสาทหลายชนิด แต่สารที่ส่งผลต่ออารมณ์ของเรามากที่สุดคือสารที่เรียกว่า เซโรโทนิน (Serotonin) หรือที่มักจะถูกขนานนามว่า ฮอร์โมนแห่งความสุข ซึ่งสารสื่อประสาทประเภทนี้ถูกผลิตขึ้นในทางเดินอาหารมากกว่า 90% และทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร และการนอนหลับของเรา
The Food Mood Connection: งานวิจัยที่ยืนยันความสัมพันธ์
จากการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับงานวิจัยที่โด่งดังในโลกตะวันตกจากหนังสือที่ชื่อว่า The Food Mood Connection เขียนโดย ดร.ยูมา นายดู (Dr. Uma Naidoo) จิตแพทย์ด้านโภชนาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้คำตอบอย่างกระจ่างชัดว่า การเลือกรับประทานอาหารส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ เพราะอาหารที่ทานเข้าไปมีความสัมพันธ์กับสารเคมีในสมอง หรือสารสื่อประสาทที่ผลิตออกมา
ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเลือกทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์นั้นส่งผลต่อการเยียวยาจิตใจและผ่อนคลายความเครียด ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้มากนัก เพราะคิดว่าแค่กินอะไรก็ได้ขอแค่อิ่มไว้ก่อน จนละเลยเรื่องโภชนาการที่ดี ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบแค่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพจิตใจที่อาจแย่ลงตามไปด้วย
อาหารบำบัดใจ: เริ่มต้นสุขภาพจิตที่ดีด้วยโภชนาการ
สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นสร้างสุขภาพจิตที่ดี เราต้องเริ่มต้นด้วยการเลือกทานอาหารที่ดีตามไปด้วย เพราะเรื่องอาหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่มักจะขาดวิตามินและแร่ธาตุบางอย่างที่ส่งผลทำให้สุขภาพจิตของเราแย่ลงได้
นี่คือตัวอย่างอาหารที่ส่งผลดีต่ออารมณ์และพฤติกรรมของคุณ
- เนื้อปลา: เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า ปลาซาร์ดีน ซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และกรดไขมัน โอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยในการลดอาการซึมเศร้าและบรรเทาความตึงเครียดได้
- ไข่ไก่: อุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะ ทริปโตเฟน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญของการผลิตสารเซโรโทนิน และยังสามารถเปลี่ยนเป็นเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นอีกด้วย
- กล้วย: อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่อร่างกาย และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์ที่ดีทั้งต่อลำไส้ การเผาผลาญ และช่วยลดการเกิดภาวะเครียดและความวิตกกังวล
- คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน: เช่น ลูกเดือย ข้าวโพด ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต อาหารเหล่านี้อุดมไปด้วย ไฟเบอร์ และมีส่วนช่วยในการสร้างสารเซโรโทนินในสมอง ซึ่งช่วยเพิ่มความผ่อนคลายให้กับจิตใจ