แชร์

Cognac (คอนญัก) และ Brandy (บรั่นดี)

เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มที่มีความประณีตและคลาสสิก คอนญัก (Cognac) และ บรั่นดี (Brandy) ถือเป็นเครื่องดื่มอีกหนึ่งชนิดที่อยู่เหนือกาลเวลา ด้วยความบรรจงในการผลิต รวมไปถึงการคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด จนนำมาสู่เครื่องดื่มที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยเหตุนี้เองทั้งคอนญักและบรั่นดีจึงครองใจคนทั่วโลกมานานหลายศตวรรษ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เครื่องดื่มทั้งสองชนิดจะเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกว่ามีความคล้ายคลึงกัน เพราะคอนญักก็คือบรั่นดี แต่บรั่นดีไม่ได้เป็นคอนญัก ซึ่งสาเหตุนี้เองที่ทำให้หลายคนเกิดความงงงวย ว่าถ้าอย่างนั้นเครื่องดื่มทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันอย่างไร

Brandy: The Spirited Elixir of Timeless Sophistication

บรั่นดีเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เริ่มต้นจากการหมักส่วนผสมพื้นฐาน ซึ่งมีตั้งแต่องุ่น (เช่นเดียวกับคอนญัก) ไปจนถึงผลไม้อย่างแอปเปิ้ล ลูกแพร์ เชอร์รี่ และอื่น ๆ จากนั้นนำมาทำการบ่มในถังไม้เพื่อทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสีและรสชาติที่ลุ่มลึก

ต้นกำเนิดของคำว่า Brandy มีรากมาจากคำว่า Brandewijn ในภาษาดัตช์ที่หมายความว่า ไวน์ที่เผาไหม้ แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสช่วงปี ค.ศ. 1313 กล่าวกันว่าในขณะนั้นบรั่นดีถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค และด้วยรสชาติที่เข้มข้นบวกกับคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ แพทย์ในสมัยนั้นจึงเรียกว่า leau de vie หรือ the water of life นั่นเองค่ะ

บรั่นดีมีรสชาติหวานละมุนของผลไม้ รวมไปถึงกลิ่นหอมที่มาจากการบ่มในถังไม้โอ๊ก ซึ่งเมื่อบ่มนานขึ้นรสชาติของบรั่นดีก็มีความกลมกล่อมและซับซ้อนมากขึ้น ทุกวันนี้บรั่นดีจึงมีรูปแบบและรสชาติที่หลากหลายอันเนื่องจากมาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ระยะเวลาในการหมักบ่ม รวมไปถึงแหล่งผลิตที่สามารถผลิตได้จากทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งไม่ว่าจะผลิตจากที่ไหนก็สามารถเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่าบรั่นดีได้

Cognac: A Distinguished Member of the Brandy Family

ต่อมาในส่วนของคอนญัก ซึ่งเป็นบรั่นดีอีกหนึ่งชนิดที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องมากเป็นอันดับต้น ๆ ในบรรดาบรั่นดีทั้งหมด โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีความสง่างามและซับซ้อน เนื่องจากการผลิตคอนญักเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะในเมืองคอนญักทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น ถ้าหากผลิตในเมืองอื่น หรือพื้นที่ใดก็ตามที่ไม่ใช่เมืองนี้จะเรียกว่าคอนญักไม่ได้

การผลิตคอนญักโดยทั่วไปจะใช้องุ่นขาวในการกลั่น ซึ่งจะต้องใช้องุ่นขาวคุณภาพสูงที่ปลูกในเมืองคอนญักเท่านั้นในการผลิต เช่น Ugni Blanc, Colombard และ Folle Blanche เป็นต้น อีกทั้งการผลิตจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าคอนญักมีคุณภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยการบ่มคอนญักจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีถึงจะสามารถนำมาจำหน่ายได้

นอกจากนี้ระยะเวลาในการบ่มคอนญักยังมีผลต่อการจำแนกคุณภาพอีกด้วย ซึ่งจะมีการระบุระยะเวลาเป็นสัญลักษณ์ของดาวที่ถูกคิดค้นโดย Maurice Hennessy ว่ากันว่ายิ่งคอนญักมีอายุมากเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งแพงมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังมีรสชาติที่สุขุม นุ่มลึกยิ่งกว่า โดยสามารถแบ่งตามอักษรย่อได้ดังนี้:

  • VS (Very Superior) เป็นคอนญักที่ใช้ระยะเวลาในการบ่มประมาณ 2-5 ปี
  • VSOP (Very Special Old Pale) จะมีรสชาติที่เข้มข้นกว่า VS เพราะใช้ระยะเวลาในการบ่ม 7-10 ปี
  • XO (Extra Old) เพิ่งถูกปรับกฎหมายใหม่ในปี 2018 ว่าคอนญักชนิดนี้จำเป็นต้องบ่มอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป
  • VO (Very Old) คอนญักประเภทนี้ใช้เวลาบ่มประมาณ 12-20 ปี
  • VVSOP (Very Very Special Old Pale) เป็นคอนญักที่มีความเก่าแก่และคลาสสิกมากที่สุด เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการบ่ม 20-40 ปี กันเลยทีเดียว เรียกได้ว่ากว่าจะได้ดื่มเวลาก็ผ่านไปเกือบครึ่งอายุคนแล้ว

Most Expensive Cognac: Cognac Henri IV Dudognon Heritage

บรั่นดีที่เก่าแก่และมีราคาแพงมากที่สุดในโลก คือ Cognac Henri IV Dudognon Heritage ผลิตตั้งแต่ปี 1776 บ่มในถังนานกว่า 100 ปี มีราคาสูงถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคอนญักชนิดนี้ถูกบรรจุในขวดที่ชุบทองคำขาว 24K และประดับด้วยเพชรเจียระไนแบบเหลี่ยมเกสรที่ผ่านการรับรอง 6,500 เม็ด น้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ซึ่งขวดประดับอัญมณีอันเลอค่านี้ได้รับการสร้างสรรค์โดยช่างทำอัญมณีชื่อดังอย่าง Jose Davalos

ทุกวันนี้ทั้งบรั่นดีและคอนญักต่างก็เป็นเครื่องดื่มที่ใคร ๆ ก็หลงรัก ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล รวมไปถึงประสบการณ์การดื่มที่ยอดเยี่ยมและไม่เหมือนใคร มอบสัมผัสใหม่ ๆ ให้กับนักดื่มได้อย่างไม่รู้จบ


บทความที่เกี่ยวข้อง
Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู)
ไขข้อสงสัย Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู) แตกต่างกันอย่างไร? เปิดตำนานเครื่องดื่มแห่งเอเชียตะวันออก
Sake (สาเก)
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Sake (สาเก) เครื่องดื่มหลักประจำชาติแห่งแดนอาทิตย์อุทัย: จากพิธีกรรมสู่เครื่องดื่มระดับโลก
Gaspare Campari (กาสปาเร่ คัมปาริ)
ความหลงใหลในเครื่องดื่มของ Gaspare Campari (กาสปาเร่ คัมปาริ) นำมาสู่ Bitter สมุนไพรสีแดงสดใสที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกผ่าน Classic Cocktail และงานศิลป์
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ