แชร์

Jerky (เจอร์กี้)

ย้อนกลับไปยังอารยธรรมโบราณในยุคที่มนุษย์ต้องหาทางเอาตัวรอดในช่วงที่อาหารขาดแคลน พวกชนเผ่าเร่ร่อน เช่น ชนพื้นเมืองอเมริกัน ชาวอินคา และชนเผ่าแอฟริกัน ต่างก็แสวงหาวิธีการถนอมเนื้อสัตว์ให้อยู่ได้นาน เพราะเนื้อสัตว์สด ๆ ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ ยิ่งในช่วงฤดูหนาวการออกไปล่าสัตว์ถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ดังนั้นพวกเขาจึงต้องหาวิธีถนอมอาหาร เพื่อเก็บรักษาเนื้อไว้รับประทานในช่วงเวลานี้

กำเนิด เจอร์กี้: ภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชนเผ่าโบราณ

ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงค้นพบว่าการทำเนื้อให้แห้งแล้วใส่เกลือลงไปจะสามารถเก็บรักษาเนื้อสัตว์ไว้รับประทานได้ในยามที่ต้องเดินทางไกลหรือในช่วงฤดูหนาวที่รุนแรง โดยพวกเขาจะหั่นเนื้อเป็นเส้นบาง ๆ แล้วตากให้แห้งภายใต้แสงแดดหรือบนกองไฟ ซึ่งวิธีการถนอมอาหารด้วยเทคนิคนี้ทำให้พวกเขาสามารถพกพาแหล่งอาหารที่มีคุณค่าไปได้ทุกที่ที่พวกเขาไป

ในอดีตเนื้อตากแห้งเหล่านี้จะถูกเรียกว่า ชาร์กี้ (Charqui) ในภาษาเกฉวนของชาวอินคา ซึ่งแปลว่า การดึงหรือตัดให้เป็นเส้นยาว เมื่อเวลาผ่านไปจึงเป็นที่รู้จักกันในนาม เจอร์กี้ (Jerky) โดยในยุคแรก ๆ นี้จะนิยมทำมาจากเนื้อลามะ อัลปาก้า บิคูญาส ควาย และกระทิง เป็นต้น

การแพร่หลายของ เจอร์กี้ สู่โลกตะวันตก

ต่อมาเมื่อชาวยุโรปกลุ่มแรกเดินทางมาถึงโลกใหม่ พวกเขาพบว่าชนพื้นเมืองอเมริกันกำลังทำเนื้อตากแห้งสำหรับเก็บไว้ทานในภายหลัง ซึ่งพวกเขาก็รู้ทันทีว่าการถนอมเนื้อแบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อชาวยุโรป พวกเขาจึงขอให้ชนพื้นเมืองอเมริกันสอนตั้งแต่วิธีการตัดและเตรียมเนื้อเป็นเส้นยาว รวมไปถึงกระบวนการทำทั้งหมดและเครื่องปรุงต่าง ๆ ที่ใช้ในการหมักเนื้อ เพื่อที่จะนำเทคนิคเหล่านี้ไปเผยแพร่ยังทวีปยุโรป

ด้วยเส้นทางการค้าและการสำรวจที่เพิ่มขึ้น นักสำรวจชาวยุโรป เช่น คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน ต่างก็นำเนื้อเจอร์กี้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเผยแพร่ยังพื้นที่อื่น ๆ จนเนื้อเจอร์กี้เริ่มแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก

เจอร์กี้ ในยุคปัจจุบัน: ของว่างยอดนิยมและคุณค่าทางโภชนาการ

ในยุคปัจจุบันเจอร์กี้ได้กลายมาเป็นของว่างที่คนทั่วโลกชื่นชอบ ด้วยการก้าวข้ามจุดกำเนิดในฐานะอาหารเพื่อการอยู่รอด แล้วเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมอาหารรสเลิศ ด้วยความหลากหลายของเนื้อสัตว์ที่มีเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่เนื้อวัว ไก่งวง ไก่ หมู หรือแม้แต่เนื้อแปลก ๆ อย่างเนื้อกวางและนกกระจอกเทศ ก็ถูกนำมาทำเจอร์กี้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เนื้อเจอร์กี้จึงกลายเป็นของว่างที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก

นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้วเนื้อเจอร์กี้ยังมีประโยชน์ทางโภชนาการอีกมากมาย เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและผู้ที่ต้องการอาหารโปรตีนสูง และนอกจากนี้เนื้อเจอร์กี้ยังเป็นอาหารว่างที่พกพาสะดวก สามารถพกพาไปได้ทุกที่ทั้งเดินป่า ปีนเขา ล่องเรือ หรือแม้เดินทางไปยังอวกาศ เนื้อเจอร์กี้ก็ยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเหล่านักบินอีกด้วย

เจอร์กี้ไทย: ความเหมือนที่แตกต่างจาก หมูสวรรค์

การเดินทางของเจอร์กี้ผ่านประวัติศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ามนุษย์ในอดีตมีความเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบ สามารถหาวิธีเอาตัวรอดด้วยการถนอมอาหาร จนเจอร์กี้พัฒนามาเป็นของว่างที่เป็นที่ต้องการของผู้คนในยุคใหม่ ทุกวันนี้เจอร์กี้ถูกพัฒนามาหลายรูปแบบและรสชาติที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ในประเทศไทยเองก็มีเนื้อตากแห้งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจอร์กี้เช่นกันนั่นก็คือ หมูสวรรค์ ที่ในบางครั้งหลายคนมักจะเรียกกันว่า เจอร์กี้ไทย

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่เนื้อเจอร์กี้และหมูสวรรค์ในบ้านเราก็มีความแตกต่างกันในแง่ของการนำมารับประทาน เพราะเนื้อเจอร์กี้สามารถทำจากเนื้อชนิดใดก็ได้และนำมาทานได้ทันที พกพาเป็นของว่างที่รับประทานสะดวก แต่หมูสวรรค์บ้านเราส่วนมากจะใช้เนื้อหมูและต้องนำมาทอดหรือปรุงอาหารก่อนรับประทาน

Tags :

บทความที่เกี่ยวข้อง
Margherita (มาร์การิตา)
ทำความรู้จัก Margherita (มาร์การิตา) ต้นกำเนิดพิซซ่าสมัยใหม่ถาดแรกของโลก
Poutine (ปูทีน)
ชวนรู้จัก Poutine (ปูทีน) มันฝรั่งทอดสไตล์แคนาดา
Tartar Sauce (ทาร์ทาร์ซอส)
ทำความรู้จัก Tartar Sauce (ทาร์ทาร์ซอส) จากต้นกำเนิดยุคโบราณสู่ไอคอนบนโต๊ะอาหารของชาวฝรั่งเศส
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ