แชร์

Trappist Beer (แทรปพิสท์ เบียร์)

โดยทั่วไปแล้วศาสนาและเครื่องดื่มมึนเมา ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เข้ากันได้ เพราะขนาดพวกเราชาวพุทธยังถูกปลูกฝังให้ท่องจำศีลข้อ 5 กันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่อย่างไรก็ตามเครื่องดื่มเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามในบางศาสนา เพราะศาสนาบางนิกายกลับมองว่าเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ชีวิตแก่ผู้คน

จุดเริ่มต้นของ "เบียร์นักบวช" ในยุคกลาง

จุดเริ่มต้นของเบียร์นักบวช เกิดขึ้นในช่วงยุคกลางของยุโรป โดย Trappist นักบวชคณะ Cistercian นิกายโรมันคาทอลิกที่อาศัยอยู่ที่อาราม La Trappe ใน Normandy ประเทศฝรั่งเศส นักบวชเหล่านี้ยึดถือปฏิบัติตามวิถีชีวิตที่สอนโดยนักบุญเบเนดิกต์แห่งนูร์เซีย ซึ่งวิถีชีวิตแบบนี้เรียกว่า กฎของเซนต์เบเนดิกต์ โดยมีคติพจน์หลักคือ Ora et labora ซึ่งแปลได้ว่า Pray and work หรือเป็นภาษาไทยคือ สวดมนต์ไป ทำงานไป นักบวชเหล่านี้มีความเชื่อว่าการทำสมาธิหรือการพิจารณาชีวิต สามารถทำได้ผ่านกิจกรรมและการทำงานในชีวิตประจำวัน

ดังนั้นตามกฎของนักบุญเบเนดิกต์ นักบวชเหล่านี้จึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน เพื่อหารายได้สนับสนุนวัดและชุมชน โดยอารามหลายแห่งได้สร้างผลิตภัณฑ์หลากหลายออกมาจำหน่าย ซึ่งมีตั้งแต่ ชีส ขนมปัง ช็อกโกแลต น้ำผึ้ง และเบียร์ แต่ในช่วงที่ฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติ (1789-1799) นักบวชนิกายดังกล่าวถูกรัฐคุกคาม โบสถ์และวิหารถูกยึดจนต้องหนีออกจากฝรั่งเศสแล้วมาปักหลักอยู่ที่เมือง Westmalle ใกล้ Antwerp ประเทศเบลเยียม

เบียร์เพื่อสุขภาพและสังคม: บทบาทในเบลเยียม

เมื่อเดินทางมาถึงเบลเยี่ยม พวกเขาพบว่าน้ำดื่มในขณะนั้นปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรกและสารพิษต่าง ๆ การดื่มน้ำจากธรรมชาติจึงเปรียบเสมือนการฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง ดังนั้นโบสถ์ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและรณรงค์ให้ผู้คนหันมาดื่มเบียร์แทน เนื่องจากเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการต้มมาแล้วจึงมีความสะอาดมากกว่าน้ำดื่มทั่วไป

ดังนั้นนักบวชเหล่านี้จึงผลิตเบียร์ขายให้กับชาวเบลเยี่ยม แต่การขายเบียร์ของนักบวชจะต้องไม่หวังผลกำไร ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม เพื่อนำเงินที่ได้มาบำรุงรักษาอาราม สนับสนุนงานการกุศล และสนับสนุนโครงการสวัสดิการสังคม เช่น การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอย่างข้าวบาร์เลย์ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่

มาตรฐานและเอกลักษณ์ของเบียร์ Trappist

เมื่อเวลาผ่านไปเบียร์ของนักบวชก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วเบลเยี่ยม โดยชาวเบลเยี่ยมมักจะเรียกเบียร์ชนิดนี้ว่า Trappist ตามชื่อของนักบวช และในเวลาไม่นานความนิยมของเบียร์ชนิดนี้ก็แพร่ขยายไปทั่วยุโรป นักบวช Trappist ที่กระจายกันอยู่ตามอารามต่าง ๆ ก็เริ่มผลิตเบียร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาจำหน่ายกันมากขึ้น

เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ รวมไปถึงป้องกันการผลิตเพื่อแสวงหากำไรจากผู้ผลิตรายอื่น นักบวช Trappist จึงรวมกลุ่มกันก่อตั้งสมาคมขึ้นมา ดังนั้นผู้ที่ต้องการผลิตเบียร์ Trappist ขายจะต้องปฏิบัติภายใต้กฎการผลิตสามประการที่ถูกบัญญัติโดย สมาคมนักบวชแทรปปิสต์นานาชาติ (International Trappist Association - ITA) ได้แก่

เบียร์ต้องผลิตอยู่ภายในกำแพงอาราม โดยมีการควบคุมดูแลของนักบวช Trappist เท่านั้น เพื่อป้องกันการผลิตแล้วนำไปค้าขายเพื่อเอากำไร

การผลิตต้องมีความสำคัญรองลงมาจากกิจกรรมทางศาสนา


การผลิตเบียร์ในอารามต้องไม่เน้นผลกำไรเป็นที่ตั้ง เป็นเพียงการหารายได้เพื่อทำนุบำรุงคุณภาพชีวิตและทรัพย์สินของอารามเป็นหลัก นอกจากนี้รายได้ทั้งหลายจะต้องนำไปตอบแทนให้กับสังคม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ

สำหรับอารามที่ต้องการเป็นสมาชิกของ International Trappist Association (ITA) แล้วผลิตเบียร์ Trappist จำหน่ายจะต้องส่งใบสมัครและผ่านการประเมินอย่างละเอียด โดยคณะกรรมการของ ITA ซึ่งการประเมินจะต้องเยี่ยมชมสถานที่ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามกฎข้อบังคับสามประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยอารามที่ผ่านการประเมินจะได้รับใบอนุญาต Authentic Trappist Product (ATP) เพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพและสามารถใช้ชื่อหรือโลโก้ผลิตภัณฑ์ที่มี Trappist ได้

ทุกวันนี้มีโรงเบียร์เพียง 13 แห่งเท่านั้นที่ได้รับใบอนุญาตและประทับตรา Authentic Trappist Product (ATP) ดังนั้นการผลิตเบียร์ Trappist จึงมีอยู่อย่างจำกัด เรียกได้ว่าเป็นเบียร์ที่หาทานยากอีกหนึ่งชนิดเลยก็ว่าได้ค่ะ

เบียร์ Trappist: จิตวิญญาณและความซับซ้อนของรสชาติ

แม้เบียร์ Trappist จะมีส่วนผสมพื้นฐานของการหมักเหมือนกับเบียร์ทั่ว ๆ ไป แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้เบียร์ชนิดนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างไปจากเบียร์ชนิดอื่น ๆ คือถูกผลิตขึ้นมาโดยนักบวชและยังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งอารามอันเป็นที่ตั้งของโรงเบียร์ รวมไปถึงมีความโดดเด่นและซับซ้อนในแง่ของรสชาติที่หลากหลาย เช่น Enkel, Dubbel, Tripel และ Quadrupel โดยแต่ละชนิดก็มีจะมีรสชาติและลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง มักเสริมด้วยกลิ่นผลไม้ เครื่องเทศ สมุนไพร เรียกได้ว่าความโดดเด่นเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งคุณค่าที่คนรักเบียร์ไม่อาจหาได้จากเบียร์ชนิดไหน ๆ

อย่างไรก็ตามถึงแม้หลายคนอาจจะมองว่าเบียร์กับศาสนาไม่ควรเป็นสิ่งที่มาคู่กัน แต่สำหรับบางศาสนาอย่างนิกายโรมันคาทอลิกแล้ว เบียร์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณโดยไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิดบาปอะไร เนื่องจากเป็นเบียร์ที่ผลิตขึ้นมาด้วยหัวใจจากการอุทิศตนของนักบวชที่มุ่งหวังจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมนั่นเอง


บทความที่เกี่ยวข้อง
Cognac (คอนญัก) และ Brandy (บรั่นดี)
Cognac (คอนญัก) และ Brandy (บรั่นดี) ต่างกันอย่างไร
Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู)
ไขข้อสงสัย Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู) แตกต่างกันอย่างไร? เปิดตำนานเครื่องดื่มแห่งเอเชียตะวันออก
Sake (สาเก)
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Sake (สาเก) เครื่องดื่มหลักประจำชาติแห่งแดนอาทิตย์อุทัย: จากพิธีกรรมสู่เครื่องดื่มระดับโลก
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ