Lime (มะนาว) และ Lemon (เลมอน)
Lime (มะนาว) และ Lemon (เลมอน) เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ทั้งสองชนิดมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าสนใจ แม้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ทั้งสองชนิดนี้ก็มีความแตกต่างกันที่ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกประวัติของ Lime และ Lemon กันค่ะ
เส้นทางประวัติศาสตร์: จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ทั่วโลก
ตามประวัติศาสตร์เชื่อกันว่ามะนาวและเลมอนมีถิ่นกำเนิดอยู่ในที่เดียวกัน คือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย หลังจากนั้นจึงถูกนำไปเผยแพร่ยังส่วนอื่น ๆ ของโลก โดยชาวยุโรปรู้จักผลไม้ทั้งสองชนิดนี้ผ่านพ่อค้าชาวอาหรับที่นำสินค้าจากอินเดียมาค้าขายทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาและตอนใต้ของยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ 10
ต่อมาในศตวรรษที่ 16 นักสำรวจและนักเดินทางชาวอิตาลี คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้นำผลไม้ทั้งสองไปปลูกที่หมู่เกาะทางตะวันออกของทวีปอเมริกาในการเดินเรือครั้งที่ 2 นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผู้คนในพื้นที่แถบนั้นรู้จักมะนาวและเลมอน ในภายหลังผลไม้ทั้งสองชนิดนี้จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ฟลอริดายาวไปจนถึงเม็กซิโก
บทบาทสำคัญ: จากยาและสัญลักษณ์ชนชั้นสู่ความเชื่อทางศาสนา
ในอดีตมะนาวและเลมอนได้รับการยกย่องในด้านสรรพคุณทางยาและถูกนำมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคบิด โรคเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินซี นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาสำหรับปัญหาทางเดินอาหาร เช่น อาการคลื่นไส้และท้องผูก แต่ด้วยความที่มะนาวและเลมอนเป็นผลไม้ที่เดินทางมาอย่างยาวไกลกว่าจะถึงทวีปอเมริกา อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาที่มากมาย ในตอนนั้นจึงมีเฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้นที่จะหาซื้อได้ ยุคแรก ๆ มะนาวและเลมอนจึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นปกครองและชนชั้นสูง
นอกจากเรื่องสรรพคุณทางยาแล้ว มะนาวและเลมอนยังมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาในสังคมต่าง ๆ อีกด้วย เช่น ศาสนาฮินดู มีเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งถือมะนาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวย ร้านค้าในอินเดียไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะแขวนเชือกที่ร้อยมะนาวพร้อมพริกเจ็ดเม็ดไว้ที่หน้าร้าน เพื่อขับไล่ปีศาจ เหมือนกับวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนเลมอนเป็นหนึ่งในพืชผลสี่อย่างที่ชาวยิวใช้สวดมนต์ในเทศกาลอยู่เพิง (Sukkot)
ความแตกต่าง: มะนาว vs เลมอน ในรสชาติ โภชนาการ และการนำไปใช้
มะนาวและเลมอนเป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่มีความเป็นกรดสูง จัดอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ทั้งสองชนิดจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในแง่คุณค่าทางโภชนาการและการนำมาใช้งานนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมะนาวจะมีสีเขียว ผลกลม ขนาดเล็ก มีความเป็นกรดมากกว่า ส่วนเลมอนจะมีสีเหลืองทรงกลมรี ขนาดผลใหญ่กว่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าน้ำมะนาวมีค่า pH ระหว่าง 2.00 ถึง 2.60 ในขณะที่น้ำเลมอนมีค่า pH ระหว่าง 2.00 ถึง 2.35
ในแง่ของรสชาติมะนาวจะมีความเปรี้ยวแหลมจัดจ้านมากกว่าเลมอน จึงนิยมใช้ในอาหารคาว เช่น ต้มยำ ยำ ส้มตำและอื่น ๆ ซึ่งเหมาะกับอาหารเอเชีย โดยเฉพาะอาหารไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความครบรส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ส่วนเลมอนจะมีความเปรี้ยวที่ละมุนกว่า จึงนิยมใช้ในอาหารตะวันตกทั้งคาวและหวาน เช่น ไก่เลมอน พายเลมอน เมอแรงก์ ทาร์ตเลมอน แยมเลมอน ไอศกรีม เจลาโต้ และขนมอบต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วอาหารที่มีส่วนผสมของเลมอน มักใส่ผิวเลมอนลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความหอม นอกจากนี้เลมอนยังนิยมใช้ในเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมไปถึงค็อกเทล เช่น Margarita และ Mojito
ในด้านโภชนาการตามฐานข้อมูลของ USDA ระบุว่าเลมอนมีวิตามินซีและโฟเลตที่เข้มข้นกว่ามะนาว โดยพบวิตามินซี 39 มก. และโฟเลต 20 มก. ในน้ำเลมอน 100 กรัม เมื่อเทียบกับน้ำมะนาวที่มีวิตามินซี 30 มก. และโฟเลต 10 มก. ในน้ำมะนาว 100 กรัม แต่อย่างไรก็ตามมะนาวยังมีวิตามินเอที่สูงกว่าเลมอน