แชร์

Purple Cauliflower (กะหล่ำดอกสีม่วง)

พูดถึงเรื่องราวของกะหล่ำดอกหลายคนน่าจะรู้จักกันดี เพราะเป็นผักยอดนิยมที่อยู่คู่ครัวชาวไทยเรามาช้านาน แต่กะหล่ำดอกส่วนใหญ่ที่คนไทยเราคุ้นเคยน่าจะเป็นกะหล่ำดอกสีขาว ส่วนกะหล่ำดอกสีม่วงที่เพิ่งเห็นกันเมื่อไม่นานมานี้ เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

กะหล่ำดอกสีม่วงเป็นกะหล่ำดอกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและกลุ่มนักชิม ด้วยเฉดสีที่สดใสและรสชาติที่แตกต่าง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่ากะหล่ำดอกสีขาว ฉะนั้นกะหล่ำดอกสีม่วงจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประวัติของกะหล่ำดอก (History of Cauliflower)

ก่อนจะค้นพบกะหล่ำดอกสีม่วง ประวัติของกะหล่ำดอกต้องย้อนไปถึงศตวรรษที่ 1 ซึ่งสายพันธุ์สีขาวทั่วไปได้รับการบันทึกครั้งแรกในหนังสือของ Pliny the Elder Natural History ว่ามีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับการแนะนำให้รู้จักในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือในช่วงต้นศตวรรษที่ 19

ต่อมาในศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบกะหล่ำดอกสีส้มที่เติบโตตามธรรมชาติในทุ่งที่อเมริกาเหนือ และได้รับการเพาะพันธุ์โดยนักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นในฐานะพืชผลสายพันธุ์ใหม่ แม้ว่าในตอนนั้นกะหล่ำดอกสีส้มจะยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงคัดเลือกและผสมพันธุ์กะหล่ำดอกต่อไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ได้มาเป็นกะหล่ำดอกสีม่วงที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน

สีม่วงแห่งคุณประโยชน์: สารแอนโทไซยานิน

สิ่งที่ทำให้กะหล่ำดอกกลายเป็นสีม่วงนั้นเกิดมาจากสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งสารชนิดนี้สามารถพบได้ในผักและผลไม้ทุกชนิดที่มีสีน้ำเงินหรือสีม่วง เป็นสารพฤกษเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยว่ากันว่าสารชนิดนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังมาก สามารถช่วยปกป้องร่างกายจากอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้งานวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่าสารแอนโทไซยานินอาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านมะเร็งบางชนิดได้ จึงมีการรณรงค์ให้รับประทานกะหล่ำดอกสีม่วงเป็นอาหารเสริมเพื่อบำรุงต่อสุขภาพ

ความแตกต่างระหว่างกะหล่ำดอกสีม่วงและกะหล่ำดอกสีขาว (Difference Between Purple Cauliflower and White Cauliflower)


ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างกะหล่ำดอกสีม่วงและกะหล่ำดอกสีขาว คือกะหล่ำดอกสีม่วงมักจะถูกขนานนามว่ามีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่ากะหล่ำดอกสีขาว เนื่องจากมีสารแอนโทไซยานินที่ทำให้เกิดสีม่วงและมีสารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงมีส่วนช่วยในการต่อต้านโรคเรื้อรังต่าง ๆ แม้ว่าทั้งสองสายพันธุ์จะมีรสชาติที่คล้ายคลึงกัน แต่บางคนก็บอกว่าดอกกะหล่ำสีม่วงมีรสชาติที่หวานกว่ากะหล่ำดอกสีขาวเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่ากะหล่ำดอกสีขาวจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะกะหล่ำดอกแต่ละชนิดก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันจึงสามารถใช้แทนกันได้ เพราะบางครั้งกะหล่ำดอกสีม่วงก็หาได้ยากในร้านค้าทั่วไป

การนำไปใช้ในครัวและเทรนด์อาหาร

ในแง่ของการนำมาทำอาหารกะหล่ำดอกสีม่วงสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเช่นเดียวกับกะหล่ำดอกสีขาว สามารถนำไปผัด ย่าง นึ่ง หรือจะรับประทานกันแบบดิบ ๆ เพื่อไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการลดลงก็ได้เช่นกัน รสชาติหวานมันของกะหล่ำดอกสีม่วงสามารถเข้ากันได้ดีกับผักหลายชนิด รวมไปถึงธัญพืช และโปรตีนอื่น ๆ จึงเป็นวัตถุดิบยอดเยี่ยมสำหรับเมนูสลัดและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

นอกจากใช้ในการทำอาหารแล้ว กะหล่ำดอกสีม่วงยังเป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมในด้านสุนทรียภาพอาหาร (Food Aesthetics) อีกด้วย เนื่องจากสีสันที่สวยงาม จึงช่วยให้อาหารน่ารับประทานและดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มเชฟ โดยกะหล่ำดอกสีม่วงยังมีเฉดสีที่แตกต่างกันตามปริมาณแสงแดดที่ได้รับอีกด้วย เพราะว่าสารแอนโทไซยานิน เป็นสารที่มีความไวต่อแสงแดด ยิ่งถ้าแดดแรง ๆ ก็จะทำให้กะหล่ำดอกสีม่วงมีสีเข้มมากยิ่งขึ้น กลับกันถ้าได้รับแสงแดดน้อยกะหล่ำดอกก็จะมีสีม่วงอ่อนนั่นเองค่ะ

เมื่อไม่นานมานี้เทรนด์การทานอาหารสีเดียว (Monochromatic Food Trend) กำลังเป็นไวรัลมากยิ่งขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบตะวันตก ซึ่งเทคนิคนี้ถือเป็นสุนทรียภาพทางอาหารอีกอย่างหนึ่ง โดยพวกเขาจะนำวัตถุดิบหลากหลายชนิดที่เป็นสีเดียวกัน มาจับคู่ทานด้วยกันในจานเดียว เช่น กะหล่ำดอกสีม่วง มันฝรั่งสีม่วง ข้าวโพดสีม่วง หน่อไม้ฝรั่งสีม่วง และวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีสีเดียวมารวมกันในจาน และทุกครั้งที่จัดจานเช่นนี้ พวกเขามักจะถ่ายรูปแล้วอัปโหลดลงใน Instagram อีกด้วยค่ะ

สำหรับใครที่อยากลองจัดจานอาหารสีเดียวแล้วทานเพื่อสุขภาพ สามารถหาซื้อกะหล่ำดอกสีม่วงไปจับคู่กับวัตถุดิบอื่น ๆ สีม่วง ได้ที่ริมปิงทุกสาขานะคะ

Tags :

บทความที่เกี่ยวข้อง
Bone marrow (ไขกระดูก)
Bone marrow (ไขกระดูก) อาหารของมนุษย์ยุคหิน... กลายมาเป็นอาหารอันโอชะในยุคปัจจุบันได้อย่างไร?
Butter of gods (เนยไขกระดูก)
If God made butter it would taste exactly like bone marrow. - Anthony Bourdain
Burrata Cheese (บูราต้า)
Burrata Cheese (บูราต้า) : จากการลด Food Waste สู่ชีสยอดนิยมระดับโลก
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ