Rawang Curry (แกงระแวง)
แกงระแวง (Rawang Curry) เป็นแกงไทยโบราณที่หน้าตาคล้ายแกงพะแนง แต่จะใช้ พริกแกงเขียวหวานผสานกับขมิ้นสดและตะไคร้ มีลักษณะเป็นน้ำขลุกขลิก กึ่งแกงกึ่งผัด รสชาติเข้มข้นกลมกล่อมจากกะทิ หอมกลิ่นสมุนไพรไทย ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลปี๊บ ก่อนเสิร์ฟจะเพิ่มสีสันด้วยพริกชี้ฟ้าแดงสดและใบมะกรูดฉีก
ตำนานต้นกำเนิด: หลากทฤษฎีสู่แกงระแวง
ต้นกำเนิดของแกงระแวงมีหลายเรื่องราวที่ถูกเล่าสู่กันมาจากรุ่นสู่รุ่น
- ทฤษฎีทวารวดี: บางตำราก็เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ สมัยทวารวดี เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีค้นพบเครื่องมือทำครัวบ่งบอกถึงการปรุงอาหารด้วยกะทิ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุดิบหลักของแกงระแวง
- อิทธิพลจากอินโดนีเซีย (ชวา): บางตำราก็บอกว่าอาจจะได้รับอิทธิพลมาจาก อินโดนีเซีย (ชวา) ผ่านทางภาคใต้ของไทย เนื่องจากแกงระแวงมีลักษณะคล้ายกับ เรินดัง (Rendang) อาหารขึ้นชื่อของอินโดนีเซีย ทั้งหน้าตา รสชาติ และวิธีการปรุง ซึ่งคาดว่าอาหารชนิดนี้น่าจะเข้าสู่เมืองไทยเมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสชวาครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2413 ถึงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2414 พระองค์เสด็จเยือนเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ตาในปัจจุบัน) และชวากลาง ที่ซึ่งเรินดังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น กล่าวกันว่าชาวคณะที่เดินทางติดตามไปด้วยน่าจะนำเรินดังกลับมาปรุงใหม่ในประเทศไทย โดยใช้เครื่องแกงเขียวหวานแล้วเรียกชื่อใหม่ว่า แกงระแวง
- วิวัฒนาการจากแกงพะแนง: ตำราสุดท้ายเชื่อกันว่าแกงระแวงมีวิวัฒนาการมาจากแกงพะแนง เนื่องจากสูตรแกงพะแนงโบราณมีการใส่ขมิ้น ซึ่งคล้ายกับแกงระแวง แต่แกงระแวงจะใช้พริกแกงเขียวหวาน และปัจจุบันแกงพะแนงก็ไม่ได้ใส่ขมิ้นลงไป
เอกลักษณ์ในวรรณคดีและวิถีชีวิตไทย
แม้จะมีประวัติความเป็นมาที่ค่อนข้างคลุมเครือ แต่แกงระแวงก็ถือเป็นอาหารไทยโบราณที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งมักจะปรากฏในวรรณคดีและละครพีเรียดสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการกินของคนไทยในอดีต ตัวอย่างเช่น ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีการกล่าวถึงแกงระแวงว่าเป็นอาหารที่นางพิมพิลาไลยชอบทาน หรือแม้แต่ในภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 ก็มีการกล่าวถึงแกงระแวงด้วยเช่นกัน
ในอดีตแกงระแวงมักจะทำมาจาก เนื้อวัว แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนาโดยนำเนื้อสัตว์อื่นๆ มาใช้ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลา เป็นต้น
ปัจจุบันแกงระแวงถือเป็นแกงที่หาทานได้ยาก อาจจะไม่ค่อยพบเห็นตามร้านอาหารทั่วไป ซึ่งมักจะพบได้ตามร้านอาหารไทยโบราณ