Mirin (มิริน (味醂)
เมื่อพูดถึงเอกลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่น ส่วนผสมอย่างหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดรสชาติที่โดดเด่นก็คือ มิริน (味醂, Mirin) เหล้าหวานสำหรับปรุงอาหารที่เป็นรากฐานของอาหารญี่ปุ่นมานานหลายศตวรรษ วันนี้ Rimping Supermarket จะพาคุณไปเจาะลึกถึงประวัติศาสตร์และประโยชน์อันหลากหลายของเครื่องปรุงรสชิ้นสำคัญนี้กันค่ะ
"มิริน" คืออะไร?
มิริน เป็นเหล้าหวานสำหรับปรุงอาหาร มีลักษณะคล้ายกับสาเก แต่มิรินจะมีรสชาติหวานกว่า ซึ่งในบางครั้งมิรินก็อาจจะถูกเรียกว่าเหล้าสาเกหวาน นอกจากนี้มิรินยังมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่าสาเก เนื่องจากมีกระบวนการหมักที่แตกต่างกัน โดยมิรินจะมีระดับแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 14% ทำให้เหมาะสำหรับการนำไปปรุงอาหารโดยเฉพาะ
ต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของมิริน
ต้นกำเนิดของมิรินมีประวัติย้อนกลับไปในญี่ปุ่นโบราณ ตั้งแต่ สมัยมูโรมาจิ (Muromachi Period, ค.ศ. 1336-1573) โดยในช่วงเวลานี้พ่อครัวชาวญี่ปุ่นกำลังค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับอาหาร จึงทดลองทำเหล้าสำหรับทำอาหารขึ้นมา โดยนำ ข้าวเหนียว, โคจิ (Koji) และแอลกอฮอล์ (เช่น โชจู) มาหมักรวมกัน ทำเป็นเหล้าที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ แต่มีรสชาติหวานเหมาะสำหรับทำอาหาร
ต่อมาในช่วง สมัยเซ็นโงกุ หรือ ยุคแห่งสงครามกลางเมือง (Sengoku Period, ค.ศ. 1467-1615) มิรินก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในฐานะเครื่องปรุงรสหลัก ทดแทนน้ำตาล เนื่องจากในช่วงสงครามน้ำตาลเป็นวัตถุดิบที่หาได้ยากมาก ทำให้ในภายหลังเมื่อสงครามเริ่มสงบลง มิรินก็กลายมาเป็นเครื่องปรุงรสหลักในครัวเรือนญี่ปุ่นอย่างแพร่หลาย
ใน สมัยเอโดะ (Edo Period, ค.ศ. 1603-1868) มิรินได้รับความนิยมในกลุ่มคนชั้นสูง ในฐานะเครื่องปรุงรสที่มีมูลค่าและราคาแพง ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบอาหารและซอสญี่ปุ่นที่หลากหลาย ตั้งแต่อุด้ง น้ำซุปราเม็ง สุกี้ยากี้ ไปจนถึงซอสเทอริยากิ และซอสเทมปุระ อีกทั้งยังสามารถนำไปหมักเนื้อสัตว์ต่างๆ รวมถึงอาหารทะเลได้อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมิรินช่วยเพิ่มความอร่อยและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับอาหาร
นอกจากนี้ในยุคสมัยเอโดะ มิรินยังคงเป็นเหล้าหวานที่นิยมนำมาดื่มกันอีกด้วย โดยได้รับความนิยมในกลุ่มผู้หญิง จนมาถึงใน ยุคสมัยเมจิ (Meiji Period) ก็ได้มีการนำมิรินมาใช้ในการปรุงอาหารกันอย่างจริงจัง และไม่ค่อยนำมาดื่มกันอีกแล้ว
กระบวนการผลิตและคุณสมบัติของมิริน
กระบวนการผลิตมิรินจะใช้วัตถุดิบหลัก 3 อย่างคือ ข้าวเหนียว, โคจิ (Aspergillus oryzae) และแอลกอฮอล์ อย่างเช่นโชจู โดยข้าวเหนียวและโคจิจะถูกนำมาผสมกัน จากนั้นจะนำไปหมักในแอลกอฮอล์ โดยจะใช้ระยะเวลาในการหมักประมาณ 6-12 เดือน
ในระหว่างกระบวนการหมักนี้ แป้งในข้าวเหนียวจะแตกตัวเป็นน้ำตาล ทำให้มิรินมีรสชาติหวานกลมกล่อมมากขึ้น โดยความหวานที่ได้นี้จะแตกต่างจากความหวานของน้ำตาลทั่วไป นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มิรินเป็นเครื่องปรุงรสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อย่างไรก็ตาม มิรินไม่เพียงแต่มีคุณค่าในด้านรสชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถในการ ทำให้เนื้อสัตว์และผักมีความนุ่มเพิ่มขึ้น เมื่อใช้ในการปรุงอาหาร รวมไปถึงยังช่วย ดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลสด ได้อีกด้วย
มิรินในปัจจุบัน: เข้าถึงง่ายและหลากหลายประเภท
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การผลิตมิรินได้รับการพัฒนาขึ้นมาอีกขั้น แม้ว่าวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมจะยังคงมีอยู่ แต่การพัฒนาทางอุตสาหกรรมก็นำมาซึ่งทางเลือกใหม่ๆ สำหรับการผลิตมิรินในปริมาณมาก ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถเข้าถึงมิรินได้มากขึ้น ทุกวันนี้มิรินจึงได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี ไทย และประเทศทางฝั่งยุโรป
นอกจากนี้ในปัจจุบันมิรินยังได้รับการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยหลักๆ จะมีอยู่ 3 ประเภท เช่น:
- ฮอนมิริน (Hon mirin - 本味醂): หรือมิรินแท้ จะมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 14% และเกลือ 0% โดยมิรินประเภทนี้ทำจากการหมักและบ่มส่วนผสม 3 อย่างเข้าด้วยกัน นั่นก็คือข้าวเหนียวนึ่ง โคจิ และโชจู ใช้เวลาในการหมักระหว่าง 40-60 วัน
- Mirin-style condiments หรือ อาจิมิริน (Aji Mirin - 味醂風調味料): เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนที่มีราคาถูกกว่า มีรสชาติคล้ายกับมิรินแท้ แต่จะมีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 8-14% และเกลือ 2% ทำจากแป้งหรือน้ำเชื่อมกลูโคส น้ำ แอลกอฮอล์ ข้าว และเกลือ
- Mirin-like condiment หรือ ฮักโกโชมิเรียว (Hakko chomiryo - 発酵調味料): เป็นมิรินปรุงรส ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 1% และเกลือน้อยกว่า 1% ทำจากแป้ง น้ำเชื่อมกลูโคส น้ำส้มสายชู มีลักษณะคล้ายมิรินแท้ แต่มีราคาถูกกว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์