สปาเก็ตตี้สุดโรแมนติกจากแอนิเมชันสุดคลาสสิกเรื่อง Lady and The Tramp
เคยกันไหมคะ นั่งทานสปาเก็ตตี้ทีไรก็มักจะมีภาพของทรามวัยและไอ้ตูบโผล่ขึ้นมาในหัว ฉากในแอนิเมชันสุดคลาสสิกนี้ถึงแม้จะมีมานาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้ฉากสุดโรแมนติกของสุนัขทั้งสองตัวนี้ยังคงเป็นฉากที่ตราตรึงใจของใครหลาย ๆ คน
ฉากสปาเก็ตตี้ในตำนานที่ครองใจผู้ชม
เมื่อไม่นานมานี้มีหน่วยงานอิสระว่าด้วยการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกระดับนานาชาติ ชื่อว่า Perspectus Global ได้ทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจว่าฉากในร้านอาหารของภาพยนตร์เรื่องใดที่ครองใจชาวอังกฤษมากที่สุด โดยให้ชาวอังกฤษ 2,000 คนเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งผลออกมาปรากฏว่า 60% ของชาวอังกฤษที่ตอบแบบสอบถาม เทใจให้ฉากสปาเก็ตตี้ในตำนานจากแอนิเมชัน ทรามวัยกับไอ้ตูบ (Lady and The Tramp) ผลงานสุดคลาสสิกของดิสนีย์ที่ออกฉายตั้งแต่ปี 1955
เมื่อถามถึงเหตุผลสำคัญว่าทำไมหลายคนถึงชื่นชอบฉากจากแอนิเมชันเรื่องนี้ คนส่วนใหญ่มักจะตอบในลักษณะคล้ายคลึงกันว่าฉากนี้นอกจากจะเล่าถึงการรับประทานอาหารแล้ว ยังเล่าถึงความโรแมนติกของสุนัขสองตัวที่มีฐานันดรต่างกันแล้วตกหลุมรักกันอีกด้วย
เรื่องราวของสุนัขทั้งสองตัวนี้แฝงไปด้วยความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยแทรมป์ สุนัขหนุ่มข้างถนน ได้เข้าไปช่วยเหลือเลดี้ สุนัขสาวที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดีจากฝูงสุนัขที่ดุร้าย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สุนัขทั้งสองตกหลุมรักกันและนำไปสู่ฉากการทานสปาเก็ตตี้สุดโรแมนติก
เบื้องหลังฉากประวัติศาสตร์ที่เกือบไม่ได้ฉาย
แต่กว่าจะมาเป็นฉากการทานสปาเก็ตตี้สุดโรแมนติกที่กวาดรายได้ให้แอนิเมชันเรื่องนี้มากถึง 187 ล้านเหรียญสหรัฐ ในตอนแรกฉากนี้เกือบจะไม่ได้ฉายแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่ผ่านการอนุมัติจากวอลต์ ดิสนีย์ เพราะเขาคิดว่าภาพของสุนัขสองตัวที่ทานสปาเก็ตตี้ร่วมกันน่าจะดูสกปรกเลอะเทอะเกินกว่าจะนำมาใส่ในเรื่องนี้ได้ แต่แฟรงก์ โทมัส แอนิเมเตอร์คนสำคัญของสตูดิโอ ผู้ออกแบบฉากนี้เขาไม่ยอมแพ้ และยืนยันที่จะให้วอลต์ ดิสนีย์ เพิ่มฉากนี้ลงไปในเรื่องให้ได้ เขาจึงทำฉากนี้ขึ้นมาใหม่ในลักษณะของภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้ดิสนีย์เข้าใจมูฟเมนต์ทั้งหมดภายในฉาก
ทันทีที่เห็นภาพเคลื่อนไหวของโทมัส ดิสนีย์ก็ตกหลุมรักฉากนี้ขึ้นมาทันที เพราะฉากนี้ไม่ได้แสดงถึงการทานอาหารทั่วไป แต่เป็นการทานอาหารที่แฝงไปด้วยความรู้สึกมากมายที่ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกโรแมนติกตามไปด้วย โดยเฉพาะฉากจูบที่แทรมป์และเลดี้ทานสปาเก็ตตี้จากเส้นเดียวกันและฉากที่แทรมป์เขี่ยมีทบอลให้กับเลดี้ ด้วยเหตุนี้เอง วอลต์ ดิสนีย์ จึงเปลี่ยนใจให้ฉากนี้กลับไปอยู่ในเรื่อง จนกลายฉากที่สร้างรายได้ให้กับแอนิเมชันเรื่องนี้ได้อย่างมหาศาล
องค์ประกอบอิตาเลียนที่เสริมความโรแมนติก
อย่างไรก็ตามฉากสปาเก็ตตี้นี้คงโรแมนติกไม่ได้หากปราศจากองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาช่วยเสริมความโรแมนติกอย่างเช่น แสงไฟจากเทียนที่จุดบนขวดไวน์ Chianti, Italian breadsticks และเสียงเพลง Bella Notte ที่บรรเลงโดยพ่อครัวสองคน
จากเรื่องราวสุดโรแมนติกที่เกือบจะไม่ได้เข้าฉายในแอนิเมชัน นำมาสู่ฉากที่โด่งดังอย่างไม่รู้ลืมของดิสนีย์ ต้องขอบคุณความพยายามของโทมัส ที่ทำให้วอลต์ ดิสนีย์เปลี่ยนใจ ไม่เช่นนั้นแล้วเราคงไม่ได้เห็นแทรมป์และเลดี้ทานสปาเก็ตตี้มีทบอลร่วมกันเป็นฉากโรแมนติกแบบนี้ และด้วยความที่แอนิเมชันโด่งดังแน่นอนว่าอาหารและองค์ประกอบที่อยู่ในฉากก็ต้องโด่งดังตามไปด้วย หลายคนที่ดูแอนิเมชันเรื่องนี้จบ ต่างก็เข้าครัวไปทำสปาเก็ตตี้มีทบอลทานกันเป็นว่าเล่น ด้วยเหตุนี้เองเมื่อทานสปาเก็ตตี้ทีไรหลายคนจึงนึกถึงแอนิเมชันเรื่อง ทรามวัยกับไอ้ตูบ (Lady and The Tramp)
พอเล่ามาถึงตอนท้ายหลายคนอาจจะสงสัยใช่ไหมคะว่าทำไมอาหารในเรื่องนี้ถึงเป็นสไตล์อิตาเลี่ยนทั้งที่สถานที่ในเรื่องคือเมืองเกิดของวอลต์ ดิสนีย์ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เป็นเพราะวอลต์ ดิสนีย์ต้องการนำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอเมริกันและอิตาเลี่ยน เนื่องจากในยุคนั้นมีชาวอิตาเลี่ยนอพยพมาอยู่ที่อเมริกาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่จะมีอาหารสไตล์อิตาเลี่ยน-อเมริกันอยู่ในซีนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่เขาหยิบยกเอาสปาเก็ตตี้มีทบอลมาใส่ในเรื่องนั่นเป็นเพราะ ในสมัยนั้นสปาเก็ตตี้มีทบอลกำลังเป็นที่นิยมมาก ๆ เนื่องจากผู้อพยพชาวอิตาลีได้พัฒนาเมนูนี้ขึ้นมาในสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นเมนูที่มีชื่อเสียง
แต่ถ้าสังเกตดี ๆ เขาไม่ได้ใส่ใจแค่เรื่องนี้เท่านั้นแม้แต่ขวดไวน์และขนมปังที่อยู่บนโต๊ะก็ยังกลิ่นอายความเป็นอิตาลี โดยขนมปังที่อยู่บนโต๊ะนั้นเป็นขนมปัง Bread Stick ดั้งเดิมของอิตาลีที่ชื่อว่า Grissini ซึ่งนิยมทานเป็นของทานเล่นกับไวน์ หรือทานคู่กับพาสต้าก็เข้ากัน
ส่วนขวดไวน์ที่นำมาใช้เป็นเชิงเทียนนั้นเป็นไวน์ Chianti จากแคว้น Tuscany ที่มาในขวดทรงอ้วนกลมแบบดั้งเดิม โดยมีตะกร้าฟางหุ้มอยู่ ซึ่งขวดลักษณะนี้จะเรียกว่า Fiasco ถูกทำขึ้นมาเพื่อบรรจุน้ำไวน์สำหรับการบริโภค สะดวกสำหรับพกพาและขนส่ง รวมถึงปรากฏขวดลักษณะนี้อยู่ในพิธีการสำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของอิตาลีมาช้านาน ตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 13 ปัจจุบันไวน์ในขวดทรง Fiasco เริ่มหายากแล้วค่ะ ยังคงเหลือไร่ไวน์ที่ทำ Chianti เพียงไม่กี่รายที่ยังทำอยู่