Stevia (สตีเวีย)
หญ้าหวาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Stevia (สตีเวีย) เป็นพืชดั้งเดิมจาก ทวีปอเมริกาใต้ ที่นิยมใช้โดยชนพื้นเมืองชาวอินเดียนแดงในอเมริกาใต้ มานานกว่า 200 ปี ด้วยสรรพคุณโดดเด่นคือความหวานที่ปราศจากแคลอรี่จากแหล่งธรรมชาติ เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน วันนี้ Rimping Supermarket จะพาคุณไปทำความรู้จักกับสารให้ความหวานจากธรรมชาติชนิดนี้กันค่ะ
จุดกำเนิดโบราณ: Ka'a he'ê จากอเมริกาใต้ (200 ปีก่อน - ศตวรรษที่ 16)
Stevia มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ในอดีตจะรู้จักกันชื่อ Ka'a he'ê หรือ Sweet herb ว่ากันว่าชนพื้นเมืองมักจะนำใบสดของ Stevia มาใช้ทำเครื่องดื่มรสหวาน และนำใบแห้งมาทำเป็นชาหรือยาให้มีรสชาติหวานขึ้น
ถึงแม้ว่าชนพื้นเมืองในแถบอเมริกาใต้จะมีการใช้ Stevia มานานกว่าหลายร้อยปี แต่ชาวยุโรปเพิ่งจะรู้จัก Stevia ในช่วง ศตวรรษที่ 16 เมื่อนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางมาล่าอาณานิคม พวกเขาก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Stevia จากชนพื้นเมือง และนำความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดนี้กลับไปยังยุโรป
การค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการผลิตเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น (ค.ศ. 1899 - 1970)
ในปี ค.ศ. 1899 Stevia ได้รับการบันทึกทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรก ในชื่อ Eupatorium rebaudianum โดย Moises Santiago de Bertoni (โมยเซส ซานติอาโก เดอ แบร์โตนี) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวิส การบันทึกของเขาได้ปูทางให้กับนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกในการศึกษาความหวานจาก Stevia
ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 นักเคมีชาวฝรั่งเศส M. Bridel และ R. Lavielle ได้แยกสารประกอบเฉพาะที่ทำให้ Stevia มีรสหวานออกมา นั่นก็คือ Steviol glycosides (สตีวิออลไกลโคไซด์) และพบว่า Stevia มีรสชาติหวานกว่าน้ำตาลทั่วไป 100 - 300 เท่า แต่แคลอรี่เป็นศูนย์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการวิจัยอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป แต่ ญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกที่นำ Stevia มาผลิตในเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ. 1970 เนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำตาล ด้วยเหตุนี้นักวิจัยชาวญี่ปุ่นจึงหันมาใช้ Stevia เป็นทางเลือกที่เป็นธรรมชาติทดแทนน้ำตาล สิ่งนี้จึงส่งผลทำให้ Stevia ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น กลายเป็นสารให้ความหวานหลักในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่เครื่องดื่ม ลูกอม และขนมหวาน
ความท้าทายด้านกฎระเบียบและการยอมรับทั่วโลก (ปลายศตวรรษที่ 20 - ปัจจุบัน)
แม้จะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น แต่ Stevia ในเชิงพาณิชย์ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกฎระเบียบในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจนนำไปสู่การห้ามหรือข้อจำกัดในหลายประเทศในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เนื่องจากยังไม่ได้ศึกษาในเรื่องของความปลอดภัยเกี่ยวกับสุขภาพในด้านอื่นๆ มากพอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า Stevia ก็เริ่มได้รับการยอมรับในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ในช่วงต้น ศตวรรษที่ 21 ทั้ง สหภาพยุโรป และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติให้สกัด Stevia บางชนิดที่ปลอดภัยสำหรับการใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งปูทางไปสู่การนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
ปัจจุบัน Stevia ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นสารให้ความหวานในผลิตภัณฑ์หลายประเภท รวมถึงเครื่องดื่ม ขนมอบ และของขบเคี้ยว ซึ่งความนิยมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคสมัยใหม่เริ่มแสวงหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพแทนน้ำตาล
สรรพคุณและข้อควรระวัง
Stevia มีสรรพคุณหลากหลาย เช่น ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่มากเกินพอดีของร่างกาย ช่วยลดอาการฟันผุได้ นิยมนำมาผลิตเป็นยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อน ช่วยบำรุงตับ และบำรุงกำลัง โดยใช้ทดแทนเกลือแร่ในผู้ที่มีภาวะขาดน้ำ รวมถึงใช้ในผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากไม่มีพลังงานและแคลอรี่
อย่างไรก็ตาม สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรเลี่ยงบริโภค Stevia เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัยในการใช้ Stevia ระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร