Edamame (えだまめ, เอดามาเมะ)
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น Edamame (えだまめ, เอดามาเมะ) หรือ ถั่วแระญี่ปุ่น เป็นอาหารว่างที่นิยมทานกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยชาวญี่ปุ่นมักจะนำมานึ่งหรือต้ม เสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงหลักบนโต๊ะอาหาร พร้อมกับอาหารจานหลัก และซุปมิโซะ วันนี้ Rimping Supermarket จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาหารว่างจากแดนอาทิตย์อุทัยชนิดนี้กันค่ะ
ถั่วเหลืองอ่อนที่ถูกยกระดับ (สมัยเอโดะ: ค.ศ. 1603-1868)
ถั่วแระญี่ปุ่นจริงๆ แล้วคือ ถั่วเหลืองที่ฝักยังไม่แก่ หรืออ่อนจนเกินไป แต่ในญี่ปุ่นจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ฝักและเมล็ดมีขนาดใหญ่กว่าถั่วเหลืองปกติถึง 2 เท่า มีรสชาติหวานมัน และเนื้อสัมผัสนุ่มนวลกว่า ส่วนใหญ่แล้วชาวญี่ปุ่นจะนิยมทานเป็นเครื่องเคียง หรือเสิร์ฟเป็นของว่างพร้อมกับเบียร์ โชจู (Shochu) หรือสาเก
การเพาะปลูกถั่วเหลืองมีประวัติยาวนานนับพันปีในเอเชียตะวันออก แต่การบริโภคถั่วเหลืองในญี่ปุ่นมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับใน สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ว่ากันว่าในอดีตถั่วเหลืองมักจะถูกนำมาผลิตเป็นซีอิ๊ว มิโซะ หรือเต้าหู้ แต่ในเวลาต่อมาเมื่อชาวญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาสายพันธุ์ ถั่วเหลืองก็ถูกนำมารับประทานในรูปแบบของการต้มหรือนึ่งจนเกิดเป็นถั่วแระญี่ปุ่นที่เรารู้จักในปัจจุบัน
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ถั่วแระญี่ปุ่นได้รับการบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วทั้งประเทศ แต่ประเพณีอย่างหนึ่งในการบริโภคถั่วแระของชาวญี่ปุ่นคือจะเน้นที่ ฤดูกาลและความสดใหม่ โดยทั่วไปแล้วถั่วแระญี่ปุ่นมักจะรับประทานกันในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากเป็นฤดูกาลของถั่วแระ
คุณประโยชน์ทางโภชนาการ และการแพร่กระจายสู่สากล (ค.ศ. 1855 - ปัจจุบัน)
นอกเหนือจากความสำคัญทางวัฒนธรรมแล้ว ถั่วแระญี่ปุ่นยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย อุดมไปด้วย โปรตีน เส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็น มากมาย เช่น ไฟเบอร์ ธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี 6, วิตามินซี, วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก
ด้วยคุณประโยชน์หลากหลายประการ ความนิยมของถั่วแระญี่ปุ่นจึงแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นอาหารว่างและเครื่องเคียงยอดนิยม มักถูกเสิร์ฟอยู่ตามอิซากายะ (ร้านอาหารกึ่งผับญี่ปุ่น) หรือซูชิบาร์ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาประกอบอาหารต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น สตูว์ ผัด และเทมปุระ
ถั่วแระญี่ปุ่นได้รับการยอมรับครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1855 เนื่องจากถูกกล่าวถึงในหนังสือ The Soybean โดย CV Piper และ Joseph W. Morse โดยในหนังสือเล่มนี้ได้เขียนเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของถั่วแระญี่ปุ่นเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ถั่วแระญี่ปุ่นจึงได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา และค่อยๆ แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป และเอเชีย