แชร์

Wolf Blass (วูล์ฟ บลาส)

Wolf Blass แบรนด์ไวน์จากออสเตรเลียที่คว้ามามากกว่า 10,000 รางวัลจากทั่วโลก ได้รับการจัดให้เป็น แบรนด์ไวน์อันดับ 1 ของออสเตรเลีย ในเรื่องไวน์คุณภาพสูงที่ควบคู่ไปกับการผลิตขนาดใหญ่ในปี 2003 และยังคงรักษามาตรฐานที่ดีมาได้จนถึงปัจจุบัน ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของชายผู้ก่อตั้งนามว่า Wolfgang Franz Otto Blass (วูล์ฟกัง ฟรานซ์ อ๊อตโต้ บลาส) หรือที่รู้จักกันในชื่อ วูล์ฟ ชายผู้ซึ่งไม่เคยหยุดสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับโลกของไวน์ วันนี้ Rimping Supermarket จะพาคุณไปติดตามเรื่องราวอันน่าทึ่งของเขาค่ะ

จุดเริ่มต้นที่ไม่คาดฝัน: จากช่างไฟสู่โลกของไวน์

วูล์ฟกัง ฟรานซ์ อ๊อตโต้ บลาส เกิดในปี ค.ศ. 1934 ที่ประเทศเยอรมัน ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น วูล์ฟไม่เคยคิดฝันว่าโชคชะตาของตัวเองกับเส้นทางไปสู่โลกของไวน์จะมาบรรจบกันได้เลย เขามีความใฝ่ฝันที่แตกต่างออกไป

ตอนเด็กๆ ไม่รู้ทำไม ผมคิดมาตลอดว่า โตขึ้นผมอยากจะเป็นช่างไฟและด้วยทักษะความสามารถที่ผมมีในตอนนั้น ผมกล้าพูดได้เลยว่าถ้าวันนี้ยังเป็นช่างไฟอยู่ พรุ่งนี้ผมน่าจะอดตาย วูล์ฟกล่าวพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

วูล์ฟเองในช่วงวัยรุ่นนั้นก็ไม่ใช่เด็กที่สนใจเรื่องการเรียนนัก หนีเรียนอยู่บ่อยๆ ประกอบกับในยุคนั้นเยอรมันเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากผลพวงของ สงครามโลกครั้งที่สอง อัตราการจ้างงานจึงมีน้อยมาก คุณพ่อของวูล์ฟเห็นท่าจะไม่ดี ขืนปล่อยไว้อย่างนี้ลูกชายของเขาคงโตไปเป็นคนไม่มีอนาคต ดูแลครอบครัวไม่ได้ จึงยื่นคำขาดกับวูล์ฟไปว่า แกจะต้องกลับไปเรียนหนังสือหรือไม่ก็ไปฝึกงานในไร่ไวน์..เลือกเอา

วูล์ฟเองที่ไม่ได้มีใจให้กับการที่ต้องไปอยู่ในห้องเรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเลือกไปอยู่ไร่ไวน์ ซึ่งวูล์ฟก็ไม่ได้คาดคิดว่าตนเองจะเกิดความหลงใหลในโลกของไวน์ได้ขนาดนี้ ผ่านไปเพียง 3 ปี วูล์ฟที่ในตอนนั้นอายุ 18 ปี กลายเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ไวน์ ณ เวลานั้น หลังจากนั้นไม่นานจึงย้ายไปสะสมประสบการณ์ที่แคว้นแชมเปญประเทศฝรั่งเศส และไปต่อที่ประเทศอังกฤษเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสตร์การปรุงไวน์ (Wine Blending) และในช่วงเวลานี้เองที่วูล์ฟได้รับข้อเสนอให้ทำงานกับไร่ไวน์ในออสเตรเลีย

การผจญภัยในออสเตรเลีย: คำเชิญชวนที่ไม่คาดฝัน

ปี 1960 ในขณะที่วูล์ฟกำลังง่วนอยู่กับงานในร้านขายไวน์ชื่อ เอเวอรี่ (Avery) ที่บริสตอล ประเทศอังกฤษ เขาได้รับโทรศัพท์จากสหภาพเกษตรกรออสเตรเลีย วูล์ฟจำชายที่อยู่ปลายสายได้ เพราะช่วงนั้นออสเตรเลียส่งออกไวน์มาขายที่อังกฤษเยอะมาก จึงมีการติดต่อสื่อสารธุรกิจกันอยู่พอควร

"คุณสนใจจะมาทำงานที่ออสเตรเลียสักสามปีมั้ยวูล์ฟ มีไร่ไวน์ที่กำลังหาคนที่มีความรู้เรื่องการทำไวน์ฟอง (Sparkling Wine) มาร่วมงานด้วย"

แน่นอน ในฐานะไวน์เมกเกอร์ (ผู้ที่ดูแลการผลิตไวน์ในทุกขั้นตอน) หนุ่มไฟแรง วูล์ฟเกิดความสนใจในงานนี้ขึ้นมาทันที แต่วูล์ฟไม่รู้อะไรเกี่ยวกับไวน์ออสเตรเลียเลย เขาจึงนั่งรถไฟเข้ามาที่ลอนดอน ตรงดิ่งไปที่อาคาร Australia House แล้วทดลองดื่มไวน์ออสเตรเลียทุกฉลากเท่าที่จะหาได้จากที่นั่น

"ไวน์พวกนี้รสชาติแย่มาก ผมทำได้ดีกว่านี้แน่นอน" วูล์ฟพูดถึงไวน์ที่เขาได้ชิมตอนนั้นและตัดสินใจรับงานที่ออสเตรเลีย

ความท้าทายและการสร้างสรรค์

ที่ออสเตรเลียไม่เหมือนยุโรปที่เขาจากมาเลย โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนกว่าราวๆ 15 องศา แถมยังชื้นเหนียวตัวอีก สำหรับคนที่อยู่ในสภาพอากาศเย็นสบายมาตลอดชีวิต นี่อาจจะกลายเป็นความทุกข์ที่ยาวนานไปอีกสามปีเลยก็ได้

"ผมไม่เอาแล้ว ขอกลับบ้านเลยได้มั้ยเนี่ย!"

ณ ตอนนั้นตั๋วเที่ยวกลับก็อยู่ในกระเป๋ากางเกงของวูล์ฟนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อมาถึงแล้วก็ลองดูสักตั้ง..

วูล์ฟเซ็นสัญญาร่วมงานกับ Kaiser Stuhl Wines เป็นระยะเวลา 3 ปี ในตำแหน่ง Sparkling Wine Manager หน้าที่ของเขาคือทำไวน์ฟองของบริษัทให้ออกมาสู่ตลาดเทียบเคียงกับคู่แข่งรายอื่นๆ ที่ครองตลาดอยู่แล้ว วูล์ฟที่ตอนนั้นอายุ 27 ปี คิดว่าที่บริษัทนี้จะเป็นก้าวที่สูงขึ้นในอาชีพของเขา ต้องเป็นงานที่ใช้เทคนิคและความรู้ ต้องอุทิศเวลามหาศาลเพื่อที่จะผลิตไวน์ที่ออสเตรเลียไม่เคยมีออกมาได้..แต่เปล่าเลย บริษัทนี้กำลังถังแตก ไม่มีเงิน ไม่มีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับความสำเร็จเลย

วูล์ฟต้องแก้ปัญหาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบข้อจำกัดด้านเงินทุน แต่วูล์ฟกลับสนุก

วงการไวน์ที่ออสเตรเลียในยุคนั้น ไร่ไวน์แต่ละแห่งไม่อนุญาตให้ไวน์เมกเกอร์ พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมอาชีพ เพราะกลัวความลับจะรั่วไหล วูล์ฟจึงรวมกลุ่มลับๆ กับคนทำไวน์จากไร่อื่นๆ เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนเทคนิคและปัญหากันทุกๆ คืนวันศุกร์ ทุกคนจะนำไวน์ของตัวเองมาเพื่อแชร์กันดื่มจนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันในที่สุด

สร้างอาณาจักรของตัวเอง: Wolf Blass ถือกำเนิด

สัญญา 3 ปีหมดลง วูล์ฟออกมาทำงานอิสระ เป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคให้กับไร่ไวน์ต่างๆ รวมถึงเพื่อนๆ ของเขา เปลี่ยนไวเนอรี่ที่ผลิตแต่ไวน์หวานมาเป็นไวน์คุณภาพดีที่สามารถดื่มได้ทุกวัน จนไร่ไวน์เหล่านี้เริ่มมีชื่อเสียง ได้รับรางวัลมากมาย แต่วูล์ฟต้องขับรถไปๆ มาๆ กว่าพันกิโลเมตร ทำงานไม่มีวันหยุด และรับค่าจ้างแค่ชั่วโมงละ 2.50 เหรียญเท่านั้น

วูล์ฟมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้คน แต่มันคงถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเริ่มทำอะไรของตัวเองเสียที

ในปี 1966 วูล์ฟสามารถซื้อที่ดินเพื่อทำไร่ไวน์เล็กๆ ประมาณ 3 เอเคอร์ ที่ บิลยาร่า (Bilyara) ในหุบเขา บารอสซ่า (Barossa Valley) และเริ่มต้นทำไวน์ของตัวเอง ซึ่งไร่ไวน์นี้คงจะเป็นชื่ออื่นใดไปไม่ได้นอกจากชื่อของวูล์ฟเอง (Wolfgang Franz Otto Blass) จึงเป็นที่มาของชื่อ Wolf Blass

นกอินทรี สัญลักษณ์แห่ง Wolf Blass

แล้วทำไม Wolf Blass ถึงมีสัญลักษณ์เป็นนกอินทรี?

คำว่า บิลยาร่า (Bilyara) นั้นเป็นภาษาของชนพื้นเมือง อะบอริจิน มีความหมายว่า นกอินทรี อีกทั้งตัวเขาเองก็มีบ้านเกิดที่ประเทศเยอรมันซึ่งมีนกอินทรีเป็นสัตว์ประจำชาติเช่นกัน จึงได้ตัดสินใจนำนกอินทรีมาเป็นตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ Wolf Blass ตั้งแต่นั้นมา คลายข้อสงสัยที่ว่ามีคำว่า Wolf อยู่ในชื่อแบรนด์ แต่กลับไม่เห็นหมาป่าสักตัว

อุปสรรคและความสำเร็จ: การเติบโตของ Wolf Blass

ณ เวลานั้นวูล์ฟไม่มีเงินทุนพอที่จะทำไวน์ เพื่อนของเขา ไบรอัน ลิงค์ (Brian Link) ให้วูล์ฟยืมเงินเพื่อไปซื้อองุ่นมาผสมปรุงไวน์จนพอจะทำไวน์ลอตแรกออกมาได้ 2,500 ขวด ด้วยความที่ไวน์ยังไม่เป็นที่รู้จักจึงไม่ได้ทำยอดขายมากนัก ตัววูล์ฟเองก็ยังต้องกินต้องใช้..

ปี 1969 วูล์ฟเลิกทำงานที่ปรึกษาและเซ็นสัญญากับ Tolley Scott and Tolley ในตำแหน่ง Manager and Chief Winemaker โดยยังทำไวน์ของตัวเองควบคู่ไปด้วยหลังเลิกงาน เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น วูล์ฟก็ทำให้ไร่ไวน์แห่งนี้ประสบความสำเร็จสูงสุด ในฐานะผู้ผลิตไวน์แดงในออสเตรเลีย

ความสำเร็จที่ Tolley Scott and Tolley ไม่ได้หมายความว่าบอร์ดบริหารจะเห็นดีเห็นงามกับการที่วูล์ฟจะทำไวน์ของตัวเองไปด้วย

"วูล์ฟก! คุณจะทำงานให้เราหรือทำไวน์ของตัวเองกันแน่ เราไม่สามารถปล่อยให้คุณทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้หรอกนะ คุณต้องเลือกแล้วล่ะ จะเอายังไง!?"

อีกครั้งหนึ่งที่วูล์ฟถูกยื่นคำขาดให้ต้องเลือกเส้นทางชีวิต และครั้งนี้เขาเลือกทำไวน์ของตัวเอง วูล์ฟไล่เรียงโทรศัพท์หาเพื่อนๆ ที่เขาเคยช่วยเหลือเมื่อครั้งเป็นที่ปรึกษา ทุกคนยืนยันที่จะช่วยวูล์ฟ เขาจึงบอกลาบอร์ดบริหารของ Tolley Scott and Tolley และเริ่มต้นทำไวน์ของตัวเองอย่างจริงจัง

ในปี 1973 Wolf Blass จึงเริ่มทยอยผลิตไวน์ออกมา โดยจะเน้นเป็นไวน์ที่ดื่มง่าย ดื่มได้ทันทีที่วางขายไม่ต้องนำไปเก็บต่อ ผู้หญิงก็เข้าถึงได้ เป็นไวน์สำหรับทุกคน ซึ่งไม่ได้เป็นแนวทางที่เป็นที่โปรดปรานของเหล่าคณะกรรมการประกวดไวน์และนักวิจารณ์เท่าไรนัก

กระนั้น ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาผนวกกับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ในวงการไวน์ของวูล์ฟ ไวน์จาก Wolf Blass เริ่มมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกวาดรางวัลทั้งระดับชาติและระดับโลกเข้ามาประดับตู้จนล้น วูล์ฟขยายธุรกิจของเขาไปยังไร่ไวน์ท้องถิ่นรายอื่นๆ เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอต่อการกระจายส่งไวน์ไปยังประเทศต่างๆ อีกกว่า 30 ประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเหล่าเกษตรกรไวน์อีกด้วย

การแบ่งซีรีส์ไวน์ด้วยสีฉลาก: ความเรียบง่ายที่สร้างความแตกต่าง

ไวน์ของ Wolf Blass ถูกแบ่งเป็นซีรีส์ต่างๆ ด้วยสีของฉลาก เพื่อเลี่ยงระบบการจัดลำดับชั้นของไวน์ที่ซับซ้อนในยุโรป ซึ่ง Wolf Blass ทำมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในปี 1966

"เมื่อก่อนน่ะไวน์ที่นำเข้ามามีแต่ฉลากสีขาวหมดเลย คนออสเตรเลียที่นี่ก็ดื่มแต่เบียร์เป็นหลักกันอยู่แล้วด้วย เขาไม่เข้าใจหรอกว่าบนฉลากสีขาวนั่น ไวน์มันทำมาจากองุ่นพันธุ์อะไร มาจากแคว้นแดนไหน วูล์ฟอธิบาย ทำฉลากแยกเป็นคนละสีนี่แหละเข้าใจง่าย ส่วนที่ใช้สีเหลืองนี่ก็ไม่มีอะไรหรอก..มันเด่นดี"

ระบบการแบ่งซีรีส์ของไวน์ด้วยสีฉลากของวูล์ฟนั้นง่ายและได้ผลดีจริงๆ นอกเหนือจากฉลากสีเหลือง, แดง, ทอง แล้ว Wolf Blass ยังมีไวน์ฉลากสีอื่นๆ อีกไม่ว่าจะ สีเงิน, ดำ, ขาว, เทา ซึ่งแต่ละสีจะคัดเลือกองุ่นจากแหล่งเฉพาะมากขึ้น กระบวนการผลิตก็จะซับซ้อนขึ้นไปตามระดับของสีเช่นกัน

ตำนานที่ยังมีชีวิต: Wolf Blass ในปัจจุบัน

แม้ในปัจจุบัน Wolf Blass จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แต่วูล์ฟในช่วงอายุ 80 ปี ยังคงทำงานในฐานะ Ambassador for Wolf Blass Wines International ที่ต้องออกเดินทางไปทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ Wolf Blass ในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเป็นประธานมูลนิธิ Wolf Blass Foundation ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ออสเตรเลีย

ผมไม่เคยคิดที่จะเกษียณเลย นึกภาพไม่ออกเลยจริงๆ ว่าผมจะทนอยู่ในห้องครัวที่บ้านกับภรรยาได้อย่างไรทั้งวัน วูล์ฟพูดพลางหัวเราะเสียงดังลั่น หมอประจำตัวของผมเกษียณหมอฟันของผมก็เกษียณแล้วที่ปรึกษากฎหมาย พาร์ทเนอร์ เพื่อนๆ ของผม ทุกคนเกษียณกันหมดแล้ว ส่วนผมยังคงเป็นไอ้คนหัวดื้อ ที่มาออฟฟิศทุกวัน ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ แล้วรู้อะไรไหม ผมยังคงหลงใหลที่จะทำมันจริงๆ เพราะผมรักไวน์ของผม

จากวันแรกที่วูล์ฟก้าวเท้าเข้ามาบนผืนแผ่นดินออสเตรเลียจนถึงวันนี้ ตั๋วกลับบ้านใบนั้นวูล์ฟยังเก็บไว้อยู่เลย หากวันนั้นเขาถอดใจกลับยุโรปไป คงไม่มี Wolf Blass, หุบเขา บารอสซ่า คงไม่อุดมไปด้วยไร่ไวน์ และบางทีไวน์ออสเตรเลียอาจไม่ยิ่งใหญ่ในโลกของไวน์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


บทความที่เกี่ยวข้อง
Sake (สาเก)
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Sake (สาเก) เครื่องดื่มหลักประจำชาติแห่งแดนอาทิตย์อุทัย: จากพิธีกรรมสู่เครื่องดื่มระดับโลก
Gaspare Campari (กาสปาเร่ คัมปาริ)
ความหลงใหลในเครื่องดื่มของ Gaspare Campari (กาสปาเร่ คัมปาริ) นำมาสู่ Bitter สมุนไพรสีแดงสดใสที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกผ่าน Classic Cocktail และงานศิลป์
Umeshu (อุเมะชู,梅酒)
ทำความรู้จัก Umeshu (อุเมะชู,梅酒) เหล้าบ๊วยญี่ปุ่น: เครื่องดื่มที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นยาชูกำลังชั้นเลิศและมรดกทางวัฒนธรรม
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ