แชร์

Non-Alcoholic Beer (เบียร์ไร้แอลกอฮอล์)

ประวัติศาสตร์ของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์หรือเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำนั้นมีมานานหลายศตวรรษ โดยมีต้นกำเนิดย้อนกลับไปในอารยธรรมโบราณ ซึ่งเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักนั้นถูกผลิตขึ้นในอียิปต์โบราณเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยสมัยนั้นชาวอียิปต์มักจะต้มเครื่องดื่มหมักแอลกอฮอล์ต่ำที่เรียกว่า ไซธัม (zythum) ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นต้นกำเนิดของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ที่ดื่มเพื่อความสดชื่นและมีคุณค่าทางโภชนาการ

เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Beer หรือ NA beer) เป็นเบียร์ที่ผ่านกระบวนการหมักบ่มจนแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ถูกดึงออกไป แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นหอมของฮอพส์ และความสดชื่นตามแบบฉบับของเบียร์ ซึ่งตามความจริงแล้วเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไม่ได้ปราศจากแอลกอฮอล์ไปเสียทีเดียว เพียงแต่ว่ามีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์น้อยนิดจนกฎหมายอนุญาตให้ใช้คำว่า "ไร้แอลกอฮอล์" ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ตามกฎหมายกำหนดจะต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% โดยปริมาตร (ABV)

บทบาททางศาสนาและการแพทย์ในอดีต

ตลอดประวัติศาสตร์ เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาและทางการแพทย์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ในอียิปต์โบราณเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องบูชาแด่เทพเจ้าอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงสถานะที่สำคัญทั้งทางโลกและทางศาสนา และในช่วงยุคกลางในยุโรป อารามมีบทบาทสำคัญในการผลิตเบียร์ ซึ่งรวมถึงเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ด้วย โดยมักใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ เนื่องจากนักบวชเชื่อว่าเบียร์มีสรรพคุณในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น ช่วยบำรุงกำลัง หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย

จุดเปลี่ยนในศตวรรษที่ 19 และยุค Prohibition

ในช่วงศตวรรษที่ 19 เบียร์ไร้แอลกอฮอล์เริ่มมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความชอบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกระแสทางสังคมในการรณรงค์ให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือที่เรียกว่า Temperance Movement เพราะหลายคนเห็นว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของปัญหาสังคม ดังนั้นโรงเบียร์หลายแห่งจึงเริ่มผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพื่อเป็นทางเลือกแทนเบียร์แบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ในยุคของการห้ามจำหน่ายและผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกา (Prohibition) ตั้งแต่ปี 1920 ถึง 1933 ยังทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ได้รับความนิยมมากเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถึงแม้ว่าจะมีข้อห้ามการผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ แต่กฎหมายไม่ได้ครอบคลุมอย่างชัดเจนสำหรับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 0.5% ดังนั้นโรงเบียร์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาจึงปรับตัวมาผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ออกมาจำหน่ายกันจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ยังคงต้องการเครื่องดื่มคล้ายเบียร์

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากการยกเลิกข้อห้ามในสหรัฐอเมริกา เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬาและบุคคลที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เช่น ผู้ป่วยโรคบางชนิด หรือผู้ที่รับประทานยาบางประเภท

เทคโนโลยีการผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในปัจจุบัน

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นำมาซึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านเทคโนโลยีการผลิตเบียร์ ผู้ผลิตเบียร์ได้พัฒนาวิธีการในการผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ โดยยังคงรักษารสชาติและกลิ่นหอมของเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ไว้ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น:

  • การกลั่นแบบสุญญากาศ (Vacuum Distillation): เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยแอลกอฮอล์จะถูกทำให้ร้อนจนระเหย โดยมีจุดเดือดต่ำภายใต้สภาวะสุญญากาศ ซึ่งช่วยรักษาสารแต่งกลิ่นและรสชาติของเบียร์ไว้ได้เป็นอย่างดี
  • การกรองออสโมซิสแบบผันกลับหรือการกรองผ่านเยื่อ (Reverse Osmosis or Membrane Filtration): คือการใช้ความดันและความร้อนสูงเพื่อกำจัดแอลกอฮอล์ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์มีรสชาติเหมือนเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะถูกขจัดออกไปผ่านการกรอง ในขณะที่สารแต่งกลิ่นและรสชาติจะยังคงอยู่อีกด้านหนึ่งของไส้กรอง แล้วนำมารวมกันใหม่ภายหลัง
  • Cold Contact Fermentation (CCF) หรือ Cold Contact Process (CCP): เป็นเทคนิคที่สามารถทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ได้ โดยใช้การหมักที่อุณหภูมิต่ำมากและระยะการหมักที่ยาวนาน ซึ่งยีสต์จะผลิตแอลกอฮอล์น้อยลงในอุณหภูมิต่ำ แต่ยังคงสร้างกลิ่นและรสชาติที่ซับซ้อนของเบียร์

แนวโน้มและความนิยมในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ผู้บริโภคเริ่มหันใส่ใจสุขภาพและตระหนักรู้เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำให้ความต้องการของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยผู้ผลิตเบียร์ยุคใหม่เริ่มสร้างสรรค์เบียร์ไร้แอลกอฮอล์หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ IPA (India Pale Ale) ที่มีรสขมและกลิ่นฮอพส์จัดจ้าน ไปจนถึงเบียร์สเตาท์ (Stout) ที่มีรสชาติเข้มข้น มอลต์คั่ว ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายโดยเฉพาะผู้บริโภคที่มองหารสชาติเบียร์แบบไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ยังคงสามารถเพลิดเพลินกับการสังสรรค์ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแอลกอฮอล์ ทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ที่สมดุลมากขึ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง
Cognac (คอนญัก) และ Brandy (บรั่นดี)
Cognac (คอนญัก) และ Brandy (บรั่นดี) ต่างกันอย่างไร
Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู)
ไขข้อสงสัย Soju (โซจู) และ Shochu (โชจู) แตกต่างกันอย่างไร? เปิดตำนานเครื่องดื่มแห่งเอเชียตะวันออก
Sake (สาเก)
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Sake (สาเก) เครื่องดื่มหลักประจำชาติแห่งแดนอาทิตย์อุทัย: จากพิธีกรรมสู่เครื่องดื่มระดับโลก
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ