Budae Jjigae (บูเดชิเก (,부대찌개)
บูเดชิเก (부대찌개) หรือที่เรียกกันว่า สตูว์กองทัพ (Army Base Stew) เป็นหม้อไฟเกาหลียอดนิยมที่มีประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของชาวเกาหลีในช่วงสงครามที่แฝงไปด้วยความแร้นแค้นและอดอยาก
จุดกำเนิดจากความแร้นแค้นหลังสงคราม
เรื่องราวของบูเดชิเกแท้จริงแล้วเกิดมาจากความแร้นแค้นบนหน้าประวัติศาสตร์ของเกาหลีในช่วงหลังสงครามระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ (ค.ศ. 1950-1953) โดยในช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดนี้ ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดจากความอดอยาก เนื่องจากช่วงหลังสงครามเกิดภาวะอาหารขาดแคลน กองทัพทหารอเมริกันที่เข้ามาช่วยเหลือชาวเกาหลีใต้จึงแบ่งปันเสบียงที่มีทั้งไส้กรอก สแปม (แฮมกระป๋อง) และอาหารแปรรูปอื่นๆ อีกมากมายให้กับชาวเกาหลี
วิวัฒนาการจากผัดสู่หม้อไฟฟิวชัน
ชาวเกาหลีผู้มีความคิดสร้างสรรค์จึงนำวัตถุดิบเหล่านั้นมารังสรรค์เป็นอาหารเมนูใหม่ซึ่งก็คือ บูเดชิเก (부대찌개) ซึ่งในตอนแรกบูเดชิเกเริ่มจากการเป็นอาหารเมนูผัดมาก่อน โดยนำสแปมและไส้กรอกมาผัดรวมกับกะหล่ำปลีและหัวหอม แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากสแปมเป็นแฮมที่มีรสชาติเค็มจัดไม่ค่อยถูกปากชาวเกาหลี พวกเขาจึงดัดแปลงเมนูนี้ขึ้นมาใหม่ โดยนำกิมจิ โคชูจัง พริกแดงเกาหลี (Gochugaru) และรามยอน มาต้มรวมกันแล้วใส่ผัก สแปม และไส้กรอกลงไป จนได้มาเป็นบูเดชิเกอาหารฟิวชันเกาหลีชนิดแรกที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการผสมผสานวัตถุดิบและรสชาติจากสองวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว
การแพร่หลายและกลายเป็นอาหารประจำชาติ
เมื่อผ่านพ้นช่วงสงครามไปแล้ว บูเดชิเกก็ยังคงเป็นเมนูโปรดของชาวเกาหลี แต่อย่างไรก็ตามในขณะนั้นบูเดชิเกยังไม่สามารถหารับประทานได้ทั่วไป เนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำมีส่วนประกอบของอาหารอเมริกันอยู่ ซึ่งก็คือสแปมและไส้กรอก ที่ตอนนั้นยังไม่มีขายอย่างแพร่หลายในเกาหลี ต่อมาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 บริษัท CJ CheilJedang ก็เริ่มศึกษาวิธีการทำสแปม จนสามารถผลิตและจำหน่ายในเกาหลีได้ เมื่อมีสแปมจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ในเวลาไม่นานบูเดชิเกก็แพร่กระจายไปตามร้านอาหารหลายแห่งทั่วทั้งเกาหลี จนกลายเป็นอาหารประจำชาติไปในที่สุด
ทุกวันนี้บูเดชิเกได้รับการพัฒนาให้มีส่วนผสมที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ ซึ่งมีทั้งสแปม ไส้กรอก ถั่วอบกระป๋อง เต้าหู้ รามยอน กิมจิ โคชูจัง พริกแดงเกาหลี ผัก เห็ด ชีสสไลด์ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และเครื่องปรุงรสอื่นๆ ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้สามารถทำเป็นบูเดชิเกได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งยังคงรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์